“ในหลวง-พระราชินี”เสด็จ ฯไปทรงประกอบพิธีเจิมเรือหลวงช้าง

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 เวลา 17.11 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเจิมเรือหลวงช้าง ณ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมี พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือเอก ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชน เฝ้าฯ รับเสด็จ

การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศบูชา พระพุทธนวราชบพิตร ทรงศีล พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พลเรือเอก ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รองศาสตราจารย์ วัชรีวรรณ ทองสะอาด ภริยาผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ทูลเกล้า ฯ ถวายสูจิบัตรแต่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และพลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาในการต่อเรือหลวงช้าง และกราบบังคมทูลเชิญเสด็จ ฯไปทรงประกอบพิธีเจิมเรือหลวงช้าง

จากนั้น เสด็จขึ้นเรือหลวงช้าง ทรงทำความเคารพธงราชนาวีทางท้ายเรือ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พลเรือตรี อารยะ สิงหเสมานนท์ ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ กราบบังคมทูลรายงาน นาวาเอก ธีรสาร คงมั่น ผู้บังคับการเรือหลวงช้าง กราบบังคมทูลรายงานและกราบบังคมทูลเชิญเสด็จ ฯ รับการถวายความเคารพยิงสลุตหลวง

ต่อมา เสด็จขึ้นแท่น ณ พระสุจหนี่ รับการถวายการยิงสลุตหลวง ทรงรับการถวายความเคารพจากเรือหลวงปิ่นเกล้า ยิงสลุตหลวงจำนวน 21 นัด เสร็จแล้วเสด็จ ฯ ไปยังบริเวณหัวเรือ เรือหลวงช้าง ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมที่แผ่นป้ายชื่อเรือหลวงช้าง ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ลำนี้ ตามชื่อของหมู่เกาะช้างในจังหวัดตราด ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกองทัพเรือ ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือรบ ตามประเภทของเรือ โดยในส่วนของเรือยกพลขึ้นบก กำหนดให้ตั้งชื่อตามเกาะต่าง ๆ ในประเทศไทย จากนั้นทรงคล้องพวงมาลัยบริเวณแผ่นป้ายชื่อเรือหลวงช้าง แล้วเสด็จออกจากบริเวณหัวเรือ ไปยังห้องประทับรับรอง ทรงลงพระปรมาภิไธย และทรงลงพระนามาภิไธย ในสมุดที่ระลึก

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปยังห้องโถงนายทหาร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ น้อมเกล้า ฯ ถวาย เรือหลวงช้าง (จำลอง) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พลเรือเอก ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ น้อมเกล้า ฯ ถวายลองลูกปืนยิงสลุตหลวงนัดแรก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พลเรือตรี อารยะ สิงหเสมานนท์ ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการกองเรือยุทธการ ทูลเกล้า ฯ ถวายพระมาลาปักชื่อเรือหลวงช้าง แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนาวาเอก ธีรสาร คงมั่น ผู้บังคับการเรือหลวงช้าง เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายพระมาลาปักชื่อเรือหลวงช้าง แด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี แล้วทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีและนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ จำนวน 1 ชุด

เวลา 17.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จฯไปยังห้องสะพานเดินเรือทอดพระเนตรภายในห้องสะพานเดินเรือ หรือ ห้องควบคุมการเดินเรือ ซึ่งมีไว้สำหรับควบคุมการเดินเรือ เพื่อให้เรือสามารถเดินทางไปได้อย่างปลอดภัยและถึงที่หมายอย่างตรงเวลา โดยมี นายยามเรือเดินซึ่งได้รับแนวทางและคำสั่งการของผู้บังคับการเรือ สำหรับสะพานเดินเรือ เรือหลวงช้างมีอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการนำเรือที่ทันสมัย เช่น เรดาร์เดินเรือจำนวน 2 ตัวแบบ x-band และ s-band แผนที่อิเล็คทรอนิกส์ จีพีเอสสำหรับการนำเรือ ระบบกล้องวงจรปิด ที่สามารถใช้ตรวจสอบ ในขณะปฏิบัติการยกพล และ ขณะปฏิบัติการร่วมระหว่างเรือกับอากาศยาน รวมทั้ง ระบบถือท้ายที่ทันสมัย เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งทอดพระเนตรภายในห้องสะพานเดินเรือด้วยความสนพระราชหฤทัย พร้อมทรงซักถามผู้บังคับการเรือถึงการติดตั้งยุทโธปกรณ์ประจำเรือ และประสิทธิภาพของเรือยกพลขึ้นบก

จากนั้น เสด็จฯ ไปยังบริเวณหัวเรือ เสด็จขึ้นแท่น ประทับยืน ณ พระสุจหนึ่ทรงผินพระพักตร์ไปทางเรือหลวงปิ่นเกล้า ทรงรับการถวายความเคารพจากเรือหลวงปิ่นเกล้า ยิงสลุตหลวงจำนวน 21 นัด เสร็จสิ้นแล้วเสด็จลงจากแท่นรับการถวายการยิงสลุตหลวง ไปยังบันไดทางลงเรือทรงทำความเคารพธงราชนาวีทางท้ายเรือ เสด็จ ฯไปยังพลับพลาพิธีทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทกเสด็จ ฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการทรงลาพระสงฆ์ เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับ

ทั้งนี้ เรือหลวงช้าง เป็นเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ลำใหม่ที่กองทัพเรือได้ว่าจ้าง บริษัท China Shipbuilding Trading (CSSC) ให้ต่อขึ้น ณ อู่ต่อเรือหูตงจงหัว เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาแบบมาจากเรือ LPD Type 071 ที่ประจำการในกองทัพเรือจีน มีขีดความสามารถ ในการควบคุมบังคับบัญชา การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก และมีขีดความสามารถในการลำเลียงกำลังรบยกพลขึ้นบกจำนวน 650 นาย มียานรบประเภทต่าง ๆ รวมถึงยุทโธปกรณ์ อีกทั้งสามารถปฏิบัติงาน ร่วมกับอากาศยานของกองทัพเรือได้ทุกประเภท ใช้ระยะเวลาในการต่อเรือ 4 ปี จึงแล้วเสร็จเมื่อวันที่17 เมษายน 2466 โดยมีพลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น เดินทางไปเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือหลวงช้าง ณ อู่ต่อเรือหูตงจงหัว เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างการเดินทางกลับ เรือหลวงช้างได้ประกอบกำลังเดินทางกับเรือหลวงนราธิวาส รวมทั้งทำการฝึกการปฏิบัติงานในสถานีเรือต่าง ๆ เพื่อให้กำลังพล และเรือมีความพร้อมปฏิบัติราชการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายทันทีที่เดินทางกลับมาถึง

เรือหลวงช้างลำใหม่นี้เป็นเรือหลวงช้างลำที่ 3ของราชนาวีไทย มีความยาวตลอดลำ 210 เมตร ความกว้าง 28 เมตร กินน้ำลึก 7 เมตร ระวางขับน้ำ 25.000 ตัน มีกำลังพลประจำเรือ196 นาย แบ่งเป็นนายทหารสัญญาบัตร 26 นาย พันจ่า 39 นาย จ่า97 นาย และ พลทหาร 35 นาย โดยได้เข้าประจำการในกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ มีภารกิจหลักในการปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก การขนส่งและลำเลียง อีกทั้งเป็นเรือบัญชาการ และมีภารกิจรองในการสนับสนุนการปฏิบัติการของเรือดำน้ำ อาทิ การช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย (HADR) การอพยพประชาชน การสนับสนุนการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ

Message us