โตโยต้าปรับลดตัวเลขคาดการณ์ตลาดรวมปีนี้เหลือ 730,000 คัน

นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมด้วย นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และนายณัทธร ศรีนิเวศน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยถึง ผลดำเนินงานของโตโยต้า และตลาดโดยรวมในปีที่ผ่านมา ตลอดจนภาพรวมของตลาดรถยนต์ในปี 2567 นี้ ว่า ยอดขายของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 770,000 คัน ลดลง 9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งช่วงครึ่งปีหลัง อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยประสบภาวะค่อนข้างลําบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากดัชนีทางด้านเศรษฐกิจ ยังไม่ค่อยดีนัก ส่งผลให้อุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศไม่ค่อยเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดรถปิกอัพ ที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มมาตรการในการปล่อยกู้ที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ตลอดจน ภาวะหนี้ครัวเรือนในช่วงครึ่งปีหลัง ทําให้ยอดขายรถปิกอัพในปีที่ผ่านมาลดลงกว่า 30% โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาส่วนแบ่งการตลาดของปิกอัพของโตโยต้า อยู่ที่กว่า 40 % ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่ปี 2011 และมีส่วนแบ่งตลาดรวม อยู่ที่ 34.3% ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนการตลาดที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015

สําหรับ สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยในปี 2567 นี้ โตโยต้า ได้เคยคาดการณ์ไว้ว่า ยอดขายรวมทั้งปีน่าจะดีกว่าในปีที่ผ่านมา ที่ระดับ 780,000 ถึง 800,000 คัน แต่เนื่องจากดัชนีของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ไม่สู้ดีนัก ตลอดจนการเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการการปล่อยกู้และปัญหาหนี้ครัวเรือน ทั้งเห็นว่า สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะ เพื่อฟื้นตัว จึงขอปรับลดประมาณการณ์ยอดขายตลาดรถยนต์ในประเทศไทยปี 2567 นี้ อยู่ที่ประมาณ 730,000 คัน

นายโนริอากิ กล่าวว่า ยอดขายของโตโยต้า เราตั้งเป้าหมายการขายไว้ที่ 250,000 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดที่ 34% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โตโยต้ามีส่วนแบ่งการตลาดที่ 34.3% ถึงแม้ว่าการเข้ามาของค่ายผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน และการแนะนำรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) อาจส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวแต่เมื่อดูตัวเลขจากเมื่อเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ของปี2567ที่ผ่านมานี้ โตโยต้ามีส่วนแบ่งการตลาดที่ 34.8% ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว ที่ 34.3% จึงเชื่อว่าเป้าหมายดังกล่าวมีความเป็นไปได้

ด้าน นายศุภกร กล่าวว่า ตั้งแต่แนะนํารถคัมรี่ รุ่นเครื่องยนต์ไฮบริด ในปี 2009 เราได้เพิ่มจํานวนรุ่นของรถไฮบริดเพื่อจำหน่ายในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปลายปีที่แล้ว ได้แนะนำตัว ยาริส ครอส รวมถึง โคโรลล่า ครอสใหม่ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สําหรับตลาดรถไฮบริดในประเทศไทย เรามองว่า สัดส่วนยอดขายรถ BEV ในประเทศไทยอยู่ที่ 10% ในขณะที่รถไฮบริดมีสัดส่วนสูงกว่าที่ 12% ดังนั้น ตลาดของรถไฮบริดก็น่าจะขยายตัวออกไปได้อย่างแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยยอดขายของ BEV เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพิ่มจาก 10% ไปเป็น 14% ในขณะที่สัดส่วนยอดขายรถไฮบริดเพิ่มขึ้นสูง จาก 12% เมื่อปีที่แล้ว เป็น 22% ในปีนี้

ขณะที่ ยอดขายในตลาดไฮบริดของโตโยต้าเมื่อปีที่แล้ว เราจำหน่ายรถไฮบริดไปได้ประมาณ 31,000 คัน คิดเป็นประมาณ 30% ของตลาดไฮบริดโดยรวมในประเทศไทย นอกจากนี้รถยาริส ครอส ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่แล้วก็ได้เสียงตอบรับจากตลาดดีมาก ๆ โดยหากเราดูยอดขายรถไฮบริดในประเทศไทยเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สัดส่วนทางตลาดที่โตโยต้าทําได้อยู่ที่สูงกว่า 40% ซึ่งก็สูงกว่าเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบของรถไฮบริดก็คือเราไม่จําเป็นจะต้องใช้สาธารณูปโภคเพิ่มเติม และสามารถลดอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ทันที เราจึงเห็นว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะนําประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ ดังนั้นโตโยต้าจึงมีแผนที่จะแนะนำรถรุ่นใหม่ที่เป็นรถไฮบริดออกมาเพิ่มขึ้นในอนาคต

นายศุภกร กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับตัวเลขยอดคาดการณ์ตลาดรวมรถยนต์ในปีนี้ที่โตโยต้าปรับลดลงเหลือ 730,000 คันนั้น ถ้าดูตลาดในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะรายไตรมาสหรือว่ารายเดือนก็ตาม จะเห็นได้ว่าตลาดค่อนข้างซบเซาโดยไม่ได้มีการเติบโตขึ้นมากเท่าไหร่ และเมื่อดูตัวเลขอัตราการเติบโตจากเมื่อปลายปีที่แล้ว ตลอดจนเดือนมกรา-กุมภาปีนี้ ก็น่าจะเป็นไปได้ว่าในปี 2024 นี้ ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยน่าจะต่ำกว่า 730,000 คันเล็กน้อย แต่ว่าในไตรมาสที่ 2 ตลอดจนไตรมาสที่ 3 ในปีนี้ เราน่าจะเห็นปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยมีปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวมาเสริมในจุดนี้ด้วย จึงเชื่อว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวให้เห็นอย่างชัดเจนมากกว่าที่ผ่านมา หากดูจากงานมอเตอร์โชว์ในครั้งนี้แล้ว ก็เห็นค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ออกมาตรการทางการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายกันอย่างเต็มที่ โดยในส่วนตัวแล้ว ก็อยากจะให้ยอดขายในประเทศไทยเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 730,000 คันให้ได้

ทั้งนี้ ยอดจองของรถ 3 รุ่นคือ ยาริส ครอส, โตโยต้า ครอส และ ไฮลักซ์ แชมป์นั้น สำหรับโคโรลล่า ครอสใหม่ ที่เพิ่งเปิดรับจองเพียง 1 เดือน เราได้รับยอดจองมากกว่า 3,000 คัน ในส่วนของยาริส ครอส นับตั้งแต่เปิดตัวมา 5 เดือน มียอดจองสะสมรวมทั้งสิ้นกว่า 25,000 คัน หรือเดือนละประมาณ 5,000 คัน ซึ่งก็ถือว่าทำยอดขายได้ดีด้านไฮลักซ์แชมป์ ที่เปิดจองมา 3 เดือน ได้ยอดจองกว่า 5,000 คัน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน ยอดจองของรถทั้ง 3 รุ่น ถือว่าเข้าเป้า หรือเหนือกว่าเป้าที่เราตั้งไว้ จึงคิดว่ายอดขายของรถทั้ง 3 รุ่นนี้น่าจะไปได้ดีต่อไปเรื่อย ๆ ในปีนี้

ด้านนายณัทธร ศรีนิเวศน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึง สงครามการแข่งขันด้านราคาในขณะนี้ ว่า หากเราทําการแข่งขันด้านราคากันรุนแรงเกินไป ก็จะส่งผลต่อราคาขายต่อของรถยนต์โดยรวม ทั้งส่งผลต่อความรู้สึกของลูกค้าที่เพิ่งซื้อรถรุ่นนั้นไปด้วย โตโยต้าจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียอย่างระมัดระวัง สําหรับโตโยต้าเอง เราให้ความสำคัญกับ Value Chain ซึ่งก็คือคุณค่าตลอดห่วงโซ่การใช้งานของรถยนต์ของเรา โดยไม่ว่าลูกค้าจะซื้อรถโตโยต้าไปเมื่อใด เราก็มุ่งสร้างความสุข และรอยยิ้มให้ลูกค้าของเราทุกคน ในปีนี้ โตโยต้าก็มีการแนะนำแคมเปญและข้อเสนอเพื่อกระตุ้นยอดขายต่าง ๆ เพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมายส่วนแบ่งทางการตลาด ซึ่งเราจะพิจารณากลยุทธ์ระยะกลางกับระยะยาวอย่างรอบคอบ โดยพิจารณาถึงลูกค้าเป็นสำคัญ โดยเป้ายอดจองในงานมอเตอร์โชว์ และความมั่นใจที่จะรักษายอดขายอันดับหนึ่งนั้นที่ผ่านมา ทางโตโยต้ามียอดจองสูงสุดแทบจะทุกครั้ง ด้วยสัดส่วนประมาณ 14% ถึง 15% สําหรับเป้ายอดจองของมอเตอร์โชว์ในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน เรายังคงต้องการรักษาส่วนแบ่งดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นเราจึงแนะนำมาตรการส่งเสริมการขาย เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจจองกับเราได้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ Easy Loan และ PHYD Campaign, Deferred Payment อีกทั้งเรายังให้วางเงินดาวน์ได้ด้วยเครดิตการ์ด เพื่อช่วยสนับสนุนให้ยอดจองภายในงานเป็นไปตามเป้าหมาย เรายังขอเน้นย้ำว่ารถโตโยต้านั้นแม้ว่าจะใช้งานแล้ว ก็มีมูลค่าการขายต่อที่มักจะสูงกว่าแบรนด์อื่น และเราก็จะมีโปรโมชั่นการ trade-in รถ เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อรถคันใหม่ได้ง่ายขึ้น นำมาสนับสนุนในงานมอเตอร์โชว์ปีนี้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ เราก็ยังจะมีแคมเปญจับสลากสําหรับลูกค้าทุกท่านที่จองและออกรถของเราในงานนี้ด้วย จึงอยากจะให้ลูกค้าทุกท่านสนุกสนานแล้วก็ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ไปกับแคมเปญและรางวัลพิเศษต่าง ๆ ที่เราเตรียมไว้

นายณัทธร กล่าวอีกว่ากลยุทธ์ Multi Pathway ของโตโยต้า คือการมุ่งนำเสนอทางเลือกที่หลากหลายสำหรับลูกค้าที่มีความต้องการแตกต่างกัน เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้รถที่ตรงกับความต้องการของตนองมากที่สุด โดยMulti Pathway เป็นนโยบายของโตโยต้าทั่วโลก ซึ่งเราจะดูลักษณะจําเพาะของแต่ละประเทศและแต่ละตลาด ตลอดจึงความเป็นไปได้ในอนาคต แล้วจึงนําเสนอทางเลือกที่เหมาะสมให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ การที่เราจะเลือกว่าเทคโนโลยีใดเหมาะสมกับประเทศไหน มีปัจจัยในการพิจารณาทั้งหมด 3 ข้อด้วยกัน ปัจจัยแรกก็คือตัวลูกค้าว่าลูกค้าแนวโน้มจะซื้อรถที่มีเทคโนโลยีอะไร โดยเราก็จําเป็นจะต้องดูจากสภาพทางเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น และสภาพการใช้งานจริงของลูกค้าด้วย

นายณัทธร กล่าวว่า ในส่วนของรถ BEV ในการใช้งานจริงขึ้นอยู่กับสาธารณูปโภค ก็คือสถานีชาร์จ ว่าทุกคนจะเข้าถึงได้จริงหรือไม่ และอีกส่วนหนึ่งที่ต้องพิจารณาก็คือความประหยัดโดยรวมสําหรับลูกค้า หากลูกค้าชาร์จ ในช่วงกลางดึกซึ่งค่าไฟต่ำได้ ก็อาจจะประหยัดสําหรับลูกค้าคนนั้น แต่ถ้าไม่สามารถทําได้ ก็อาจจะไม่ได้ประหยัดจริง รวมถึง เมื่อพิจารณาราคาขายต่อ ตลอดจน ความประหยัดในระยะยาว ก็อาจ แตกต่างกันไป ในแต่ละคน ซึ่งก็ต้องคํานึงถึงปัจจัยที่หลากหลายนี้เช่นกัน และในส่วนของภาระต่อสิ่งแวดล้อม หากพิจารณาการลด CO2 แบบ Tank to Wheel การผลิตพลังงานภายในรถ BEVอาจจะปล่อยคาร์บอนออกมาเป็นศูนย์จริง แต่ถ้าพิจารณาแบบ Well to Wheel คือ แหล่งไฟฟ้าที่เอามาชาร์จ BEV อย่างประเทศไทย ก็ยังผลิตจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติอยู่เป็นหลัก พราะฉะนั้นปริมาณ CO2 ที่ปล่อยออกมา เมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อย CO2 ของรถทั่วไปหรือรถไฮบริดแล้ว ก็อาจจะไม่ได้ต่างกันมากซึ่งต้องคํานึงถึงจุดนี้ด้วย

ปัจจัยที่ 3 คือ BEV จะส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างไร BEV ส่วนใหญ่ที่จําหน่ายในประเทศไทยตอนนี้เป็นรถนําเข้า 100% จึงอาจจะไม่สามารถช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศ ณ ปัจจุบันนี้ได้มากเท่าไหร่นัก สำหรับโตโยต้าเอง หากจะผลิต BEV ในประเทศไทย เราจำเป็นต้องมียอดผลิตที่สูงและคุ้มค่าด้านต้นทุน อย่างรถไฮลักซ์ในปัจจุบันมีอัตราส่วนชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศถึง 90% โดยหากเราต้องการให้ BEV มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย เราก็จําเป็นจะต้องพิจารณาเรื่องระยะเวลาและความเหมาะสมด้วย หากพิจารณาเฉพาะในประเทศไทยตอนนี้ อัตราการแพร่หลายของรถ BEV ดูค่อนข้างสูงและรวดเร็วมาก แต่ถ้าเรามองที่ตลาดอาเซียนโดยรวม ยอดขายรถไฟฟ้าในประเทศอื่น ๆ ภายในอาเซียนอาจยังไม่ได้สูงขนาดนั้น จึงต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการผลิตในประเทศไทยแล้วส่งออกในภูมิภาคอาเซียน ตอนนี้ จึงอาจจะยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมเท่าใดนัก

อย่างไรก็ตาม โตโยต้าก็น้อมรับนโยบายของประเทศไทยที่อยากจะมีสัดส่วนการใช้รถ BEV ให้ได้ 30% ภายในปี 2030 โดยจะขยายเทคโนโลยีการผลิตแบบ Step-by-step โดยเรามีแผนที่เป็นรูปธรรมในระยะสั้น คือ แผนผลิตรถไฮลักซ์ BEV ที่พร้อมจะส่งมอบให้เทศบาลเมืองพัทยา เพื่อใช้เป็นรถสองแถวแบบทดสอบ 12 คันในวันที่ 25 เมษายนที่จะถึงนี้ โดยจะมีพิธีส่งมอบกันที่พัทยา นอกจากนี้ เรายังมีแผนทําการผลิตรถไฮลักซ์ BEV แบบ mass production ภายในปลายปี 2025 อีกด้วยและหลังจากนี้เป็นต้นไปโตโยต้าก็จะทําการพิจารณาผลิตรถ BEV ที่เป็นรถยนต์โดยสารทั่วไปในประเทศไทยในอนาคต

สําหรับ รถไฮบริดนั้น มีข้อได้เปรียบ เนื่องจากไม่จําเป็นจะต้องเพิ่มสาธารณูปโภคอะไร ทุกคนสามารถใช้งานได้ทันที ด้านความประหยัดเองก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานของลูกค้า ลูกค้าบางคนมีวิธีการใช้งานแบบหนึ่ง ใช้ไฮบริดก็อาจจะประหยัดกว่า BEV ก็ได้ แต่ว่าถ้าเกิดใช้งานอีกแบบนึง BEV ก็อาจจะประหยัดกว่าไฮบริด จึงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การใช้งาน

“มีซัพพลายเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศไทยจํานวนมากสามารถใช้การผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผลิตชิ้นส่วนสําหรับรถไฮบริดได้ จึงถือเป็นการช่วยเหลือซัพพลายเออร์เหล่านี้ต่อไปซึ่งหากเราดูสภาพการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านของไทย ก็จะเห็นว่ามีความนิยมในรถไฮบริดมากกว่ารถ BEV ณ ขณะนี้ ดังนั้นรถไฮบริดจึงยังมีข้อได้เปรียบด้านการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอยู่” นโยบายด้านไฮบริดของโตโยต้า อย่างที่เราเปิดตัวรถโคโรลล่าครอสรุ่นไฮบริดไปเมื่อไม่นานมานี้ เราก็อยากจะให้รถยนต์รุ่นหลักของโตโยต้ามีออปชั่นที่เป็นไฮบริดให้ครบทุกรุ่นโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”นายณัทธร

Message us