
เมื่อวันที่ 20 เมษายน จังหวัดนครราชสีมา ได้บูรณาการกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เครื่องมือ-เครื่องจักร จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ รวมกว่า 25 หน่วยงาน อาทิ มณฑลทหารบกที่ 21 ค่ายสุรนารี , กองบิน 1 , ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 นคราชสีมา , สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา , โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง ,สำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 8 นครราชสีมา , เทศบาลนครนครราชสีมา ,องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เขตนครราชสีมา , แขวงทางหลวงนครราชสีมา ที่ 2 , การประปาส่วนภูมิภาค สาขานครราชสีมา , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานและ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นต้น ร่วมกันดำเนิน “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในลำตะคอง” ตั้งแต่ช่วงอ่างประปาอัษฎางค์ ไปจนถึง สะพานโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และสิ้นสุดที่ประตูระบายน้ำข่อยงาม อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เป็นระยะเวลาประมาณ 30 วัน ในห้วงวันที่ 19 เมษายน 2566 ไปจนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2566 รวมระยะทางประมาณ 4.5 กิโลเมตร

ทั้งนี้ มีการระดมกำลังพล พร้อมยุทโธปกรณ์ จำพวกเรือกำจัดผักตบชวา เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์เรือ รถแบคโฮ รถหัวลาก รถขยะ เลื่อยยนต์ มีด เข่ง ไม้กวาด เชือก และถุงมือ ปฏิบัติการพัฒนา ฟื้นฟู และแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำ โดยกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำและจัดเก็บทำความสะอาดพื้นที่ริม 2 ฝั่งลำตะคอง เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำต้นแบบของการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัด ภายใต้กิจกรรมพัฒนา ฟื้นฟู และแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำ ในกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2566

โดยได้เริ่มคิ๊กออฟดำเนินการเมื่อวานนี้ (19 เมษายน 2566) เป็นวันแรก พบว่า สภาพลำคะตองในช่วงฤดูร้อน ระดับน้ำไม่ลด และเริ่มมีวัชพืช ผักตบชวาหนาแน่น กีดขวางทางไหลของน้ำในหลายจุด ประกอบกับริม 2 ฝั่งลำตะคองในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา มีบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีการก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำ และมีกิ่งไม้ ต้นไม้ หักโค่น หรือโน้มลงในน้ำ เจ้าหน้าที่ ต้องช่วยกันตัดแต่งและจัดเก็บไม่ให้กีดขวางลำน้ำ

นอกจากนี้ ยังตรวจพบการทิ้งขยะลงในลำน้ำ จนลอยไปสะสมในหลายจุด และมีการปล่อยน้ำเสียมาจากชุมชนริมลำตะคอง ทำให้สภาพน้ำบริเวณดังกล่าวเสี่ยงเน่าเสีย ซึ่งได้กำชับผ่านผู้นำชุมชนแต่ละแห่ง ขอความร่วมมือลูกบ้านได้มีจิตสำนึกรักษ์ลำตะคองร่วมกัน ด้วยการร่วมดูแล ไม่ทิ้งขยะ น้ำเสีย หรือปฏิกูลลงในลำน้ำ เพราะจะทำให้น้ำเน่าเสีย สัตว์น้ำท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในลำน้ำเสี่ยงขาดออกซิเจนและตายลงได้ จะต้องช่วยกันดูแลรักษาเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ยาวนานต่อไป
ข่าว/ภาพ : นายประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครราชสีมา
