แม่บ้านมหาดไทย20จังหวัดอีสานดูงานศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ต.หนองนาคำ อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย พร้อมด้วยนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นำคณะประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี โดยมี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นางนงรัตน์ คงเกษม ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุดรธานี นายอภิชาติ พลบัวไข ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 18 บ้านโนนกอก ต.หนองนาคำ ประธานกลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก และสมาชิกกลุ่ม ร่วมให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ ดร.วันดี นำคณะกรรมการแม่บ้านมหาดไทยร่วมเยี่ยมชมตลาดชุมชนและความสำเร็จในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งให้กำลังใจพี่น้องช่างทอผ้าในพื้นที่ และร่วมหว่านปอเทืองเพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์และพัฒนาดินให้มีความอุดมสมบูรณ์สอดคล้องกับแนวคิดในการจัดกิจกรรมวันดินโลก ประจำปี 2565 (World Soil Day 2022)ของกระทรวงมหาดไทย ภายใต้แนวคิด “ดินดี อาหารดี สุขภาพดี ชีวีมีสุข (Great Food from Good Soil : Soil Nutrition Awareness Week)”

ดร.วันดี กล่าวว่า สมาคมแม่บ้านมหาดไทย ขอขอบคุณจังหวัดอุดรธานี ชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุดรธานี และพี่น้องภาคีเครือข่ายของจังหวัดอุดรธานีทุกท่าน ทีได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของพี่น้องแม่บ้านมหาดไทย 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมาเรียนรู้ ณ ศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก แห่งนี้ ที่ถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : UN SDGs) และเป็นพื้นที่ต้นแบบของการน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” มาขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมจนเป็นวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนในชุมชน

นอกจากนั้น ยังได้น้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้ผ้าไทยเพื่อให้เกิดการสืบสาน รักษา และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หัตถศิลป์ หัตถกรรมของชุมชน ของบรรพบุรุษ ทำให้สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับพี่น้องประชาชนในชุมชน ทั้งยังน้อมนำพระดำริในการเสริมสร้าง “ความยั่งยืน” ทั้งการทอผ้าด้วยกี่มือโบราณ การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ การปลูกต้นไม้ให้สี อันจะส่งผลทำให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนในชุมชนมีความปลอดภัย และยังส่งเสริมขยายผลส่งต่อไปสู่เด็ก เยาวชน นักเรียนในพื้นที่ จากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งจะทำให้การดำเนินการเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดจนซึมซับจนเกิดความยั่งยืนในที่สุด

นายอภิชาติ พลบัวไข ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 18 บ้านโนนกอก ต.หนองนาคำ ประธานกลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้เปิดโอกาสให้กลุ่มทอผ้าบ้านโนนกอกได้เข้าสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP และเป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งเป็นการจุดประกายของการทำผ้า ทำให้พี่น้องประชาชนในชุมชนจากที่ไม่มีอาชีพที่ชัดเจน กลายเป็นทุกวันนี้ ทุกคนประกอบอาชีพ “ช่างทอผ้า” และนับเป็นบุญของพวกเราทุกคน ที่ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อช่างทอผ้า เพราะยอดจำหน่ายมีน้อยมาก หลายคนแทบจะเลิกการประกอบอาชีพนี้ แต่ด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานลายผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” “ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และลวดลายอื่น ๆ ทำให้พี่น้องช่างทอผ้าบ้านโนนกอกสามารถฝ่าฟันอุปสรรค ผ่านพ้นวิกฤต และทำให้วิกฤตกลายเป็นโอกาส มียอดสั่งและซื้อผ้าในปี 2564 จำนวนกว่า 46 ล้านบาท ซึ่งการนำภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาส่งเสริมเป็นอาชีพและต่อยอดไม่ใช่เพียงแค่ต่อยอดเรื่องการทอผ้า แต่เป็นการขยายผลไปสู่พี่น้องเกษตรกร และกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในชุมชน อำเภอ และจังหวัดอุดรธานีอีกด้วย

สำหรับการศึกษาดูงานศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ได้แบ่งพื้นที่การศึกษาดูงานเป็น 3 จุด ได้แก่ 1) ผ้าไทยใส่ให้สนุก โดยการร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่ส่งเสริมให้นักเรียนซึ่งเป็นเด็ก เยาวชน ในชุมชนได้ซึมซับ ได้เรียนรู้ และฝึกฝนการนำเศษผ้าอัตลักษณ์ ผ้าท้องถิ่นมาจัดทำสิ่งประดิษฐ์ รวมทั้งส่งเสริมการทอผ้าด้วยกี่มือ กี่โบราณ และการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ เป็นต้น 2) การคัดแยกขยะและจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ซึ่งพี่น้องประชาชนบ้านโนนกอกสามารถแยกขยะแห้งและจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน 100% และมีโครงการขยะเพื่อฌาปนกิจคนในชุมชนขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองนาคำ และ 3) โครงการบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง โดยเป็นการนำเสนอพาแลงพาข้าว ที่เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจของพี่น้องประชาชนทั้ง 18 หมู่บ้านในตำบลหนองนาคำ

 
Message us