เวทีประกวดผ้าลายพระราชทาน”ผ้าลายดอกรักราชกัญญา”ภาคอีสานคึกคัก

ที่ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดอุดรธานี มลฑาทิพย์ ฮอลล์ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ตามโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนจุดดำเนินการที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการประกวดการออกแบบตัดเย็บ “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก” ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภายในงานดังกล่าวมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านกรมการพัฒนาชุมชน นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นางนงรัตน์ คงเกษม ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุดรธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์จุรีรัตน์ กอเจริญยศ ประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดกาฬสินธุ์ นางกัญญา จุนถิระพงศ์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดบุรีรัมย์ นางพัทธานันธ์ ยังตรง ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุบลราชธานี นางอรจิรา ศิริมงคล ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครราชสีมา นายวิฑูรย์ นวลนุกูล นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พัฒนาการจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ เข้าร่วมงานคับคั่ง

นอกจากนั้นมี คณะกรรมการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค ได้แก่ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย เจ้าของแบรนด์ THEATRE นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ISSUE นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และช่างทอผ้า ผู้ประกอบการ และนักศึกษา ผู้สมัครเข้าประกวด ร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการทรงริเริ่มฟื้นฟูงานหัตถกรรมการทอผ้าขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อครั้งโดยเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรไปทรงเยี่ยมราษฎรและพระราชทานสิ่งของช่วยเหลือพี่น้องประชาชน จากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2513 ด้วยพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นพสกนิกรผู้มาเฝ้ารับเสด็จฯ แต่งกายด้วยผ้าซิ่นที่มีลวดลายสีสวยงาม จึงมีพระราชปฏิสันถารกับพสกนิกรที่มารอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ ว่ามีจำหน่ายหรือไม่ แต่ทรงได้รับคำตอบว่าไม่ได้มีจำหน่าย จะใส่เพียงเทศกาลหรือวาระสำคัญเท่านั้น

ทำให้พระองค์ท่านทรงกลับมาพร้อมด้วยสิ่งที่ค้างคาอยู่ในพระหทัยของพระองค์ว่า ความงดงามของภูมิปัญญาเหล่านั้นจะช่วยทำให้พสกนิกรของพระองค์ท่านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างไร ด้วยปฐมเหตุการณ์ในครั้งนี้เอง พระองค์ท่านจึงได้พระราชทานกำเนิด “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในพระองค์” ขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนี้ มูลนิธิฯ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนได้อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผ้าหลาย ๆ ชนิด ทั้งผ้าไหม ผ้ามัดหมี่ ผ้าแพรวา ศิลปาชีพด้านอื่น ๆ เช่น เครื่องถมทอง ถมเงิน แม้กระทั่งในเรื่องของกระจูด ผ้าปักอันสวยงาม ซึ่งพระองค์ท่านทรงมุ่งมั่นในการอนุรักษ์และส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้รักษาไว้ และเป็นการหารายได้เพิ่มให้กับพี่น้องประชาชน

“นับเป็นความโชคดียิ่งของคนไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการ “ต่อยอด” ภูมิปัญญาผ้าไทยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรื้อฟื้นเมื่อ 52 ปีก่อน โดยพระองค์ได้พระราชทาน “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” พร้อมทั้งทรงระดมสรรพกำลังดีไซเนอร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยในมิติด้านต่าง ๆ ในชื่อทีมว่า “คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” มาช่วยพัฒนางานหัตถศิลป์หัตถกรรมไทย อบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับช่างทอผ้าและผู้ประกอบการผ้าไทย ลงพื้นที่ไปโค้ชชิ่ง เฉกเช่นเดียวกับคณะทำงานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ลงไปรื้อฟื้นเมื่อในอดีต

ทั้งนี้ พระองค์ท่านเล็งเห็นถึงความสำคัญของการถ่ายทอดภูมิปัญญาอันล้ำค่าของบรรพบุรุษสู่ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการน้อมนำพระปณิธานสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมไทยและสังคมโลก ให้เห็นถึงความรู้ความสามารถของเยาวชนไทยในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ทรงยุยงผลักดันทำให้พวกเราคนมหาดไทย ทำงานเข้าถึงพี่น้องประชาชน ด้วยการที่เราต้องเป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ที่นอกจากจะมีแรงปรารถนา (Passion) มีจิตอาสา และมีองค์ความรู้แล้ว จะต้องมี “ทีม” จากการระดมสรรพกำลัง 7 ภาคีเครือข่าย ร่วมกันส่งเสริมการใช้ผ้าไทย เพราะผ้าไทยไม่ได้เป็นเพียงเครื่องแต่งกาย แต่เป็นเครื่องมือที่จะทำให้พี่น้องประชาชนอีกหลายล้านครัวเรือนได้มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ เลี้ยงดูจุนเจือครอบครัว ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ เราทุกคนต้องช่วยกันส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ ซึ่งสามารถช่วยชีวิตเกษตรกรไทยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทอผ้าอีกทางหนึ่งด้วย โดยพระองค์ท่านได้ทรงคิดค้นออกแบบผ้าลายพระราชทาน ลวดลายแรก คือ “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี” ต่อมาพระราชทาน “ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และล่าสุดคือ “ลายดอกรักราชกัญญา” ให้กับกระทรวงมหาดไทยได้นำไปขับเคลื่อนต่อยอดภูมิปัญญาไทย อีกทั้งยังให้แนวคิดกับผู้ประกอบการผ้าไทยในการนำลายผ้าไปประยุกต์ จนเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของความรุ่งโรจน์ของผ้าไทย ที่พวกเราช่วยกันกระตุ้นให้เกิดการสวมใส่ผ้าไทย

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการมีลวดลายเพียงอย่างเดียวนั้นไม่พอ ยังเน้นย้ำไปถึงเรื่องการใช้สีที่มีความเหมาะสมกับแฟชั่นและฤดูกาล เพื่อเพิ่มความหลากหลาย เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีความทันสมัย เป็นที่มาของหนังสือเทรนด์ผ้าไทย Thai Textiles Trend Book อีกทั้งการประยุกต์ใช้สี Pantone หรือ Earthtone ที่เป็นองค์ความรู้ในด้านเฉดสีต่าง ๆ ทั้งโทนเดียวกันหรือตัดกัน เพื่อสร้างความโดดเด่นและเอกลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าไทยมากยิ่งขึ้น ตัดเย็บผ้าให้มีรูปทรงที่เป็นความต้องการของตลาด เหมาะสมกับการสวมใส่ในทุกโอกาส และทุกเพศ ทุกวัย จึงเป็นที่มาของโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่ทำรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยในปัจจุบันมากถึง 50,000 ล้านบาทแล้ว

ปลัดกระทรวงมหาดไทย บอกว่า ในการประชุมขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ซึ่งมีผู้ว่าฯ ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศร่วมประชุม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้พบปะและเน้นย้ำหลักการทำงานว่าให้ “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที” ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำมาปฏิบัติและสนองพระราชปณิธานเสมอมา สะท้อนได้จากการที่พระองค์ท่านได้ทรงลงมาโค้ชชิ่งพัฒนาศักยภาพแก่ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตผ้าไทย ทุกเทคนิค ทุกแขนงด้วยพระองค์เองในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยทรงนำวิชาการแฟชั่นสมัยใหม่และองค์ความรู้ด้านศิลปกรรมศาสตร์ มาคิดค้นลวดลายผ้าอยู่เสมอ

พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของการทำงานที่ “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที” ที่กระทรวงมหาดไทยได้สนองพระดำริมาโดยตลอด และอีกประการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้บอกกล่าวในการพบปะก็คือ เราต้องทำงานเชิงรุก “ทำงานวันนี้ สั่งงานวันนี้ ต้องเสร็จเมื่อวานนี้” ด้วยการมุ่งมั่น “เข้าใจปัญหา” ของพี่น้องประชาชนของชาวบ้าน “ตอบสนอง” ได้ทันที ส่วนใดที่เราทำไม่ได้ ก็ต้องพูดคุยสื่อสารได้ทันที คนมหาดไทยต้องทำงานแบบ “รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” อาทิ เมื่อถนนเป็นหลุม เป็นบ่อ เราต้องช่วยเอาหิน หรือเอาวัสดุเทียมมาแก้ปัญหาในเบื้องต้นไว้ก่อน และประสานงานไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้มีการแก้ปัญหาระยะยาว โดยนำเอามาปรึกษาหารือเพื่อบรรจุเป็นแผนพัฒนาตำบลในการแก้ปัญหาต่อไป ถ้าแบบนี้เมื่อมีคนมาร้องเรียนปัญหาเรื่องถนนต่อรัฐมนตรี เราก็สามารถบอกได้แล้วว่า “เสร็จตั้งแต่เมื่อวาน” และยังสามารถสื่อสารเพิ่มเติมได้อีกว่า “ได้นำปัญหาความเดือดร้อนนี้ไปไปบรรจุยังแผนตำบลแล้ว” จึงไม่เป็นเรื่องยากเลยของชาวมหาดไทยที่จะทำงานได้อย่างรวดเร็ว เพราะเราได้รับพระกรุณาธิคุณพระราชทานหลักการทรงงานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาใส่เกล้าฯ และปฏิบัติเสมอมา ด้วยมีจุดมุ่งหมาย คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนอยู่ตลอดเวลา” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

“ขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพช่างทอผ้าอย่างต่อเนื่องด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริง และทำสิ่งที่สำคัญของข้าราชการมหาดไทยด้วยจิตอาสา และขอให้ได้ขยับขยายสิ่งที่ดีเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างยิ่งต่อไปในอนาคต และ “เป็นผู้นำ” เชิญชวนให้คนในชุมชนมาร่วมกันสวมใส่ผ้าไทย ใช้ผลิตภัณฑ์ไทย และใช้โอกาสที่ดีในชีวิต และขอชื่นชมพี่น้องชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ส่งผลงานผ้าและหัตถกรรมเข้าประกวดเป็นจำนวนมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่าตัว รวมทั้งสิ้น 4,064 ผลงาน โดยแบ่งเป็นประเภทผ้า 3,820 ผืน และประเภทงานหัตถกรรม 244 ชิ้น และขอให้พวกเราทุกคนได้จำขึ้นใจว่า เราในฐานะที่เป็นผู้นำ เป็นข้าราชการ ต้องนำเอาสิ่งที่ดีที่สุดไปบอกกับพี่น้องประชาชนด้วย “หัวใจ” อันหมายถึง ใจที่จะนึกถึงชาวบ้าน ใจที่มีความจงรักภักดี อยากจะสนองแนวพระดำริ ด้วยความพยายามฝ่าฟันทุกอุปสรรค ยอมเหน็ดหนื่อย ยอมทำงานหนัก ซึ่งจะทำให้ชาวมหาดไทยและภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยได้มีองค์ความรู้ว่า “เสื้อผ้ามิใช่เพียงเครื่องนุ่งห่มแต่คือการช่วยทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ถ่ายทอดไปยังท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานแม่บ้านมหาดไทยทุกจังหวัด ผู้นำสตรีทุกจังหวัด ข้าราชการ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ตลอดจนภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย ทั้ง 7 ภาคี อันเป็นกลไกสำคัญที่เรียกว่า “ผู้นำ” ที่จะช่วยให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์กล่าว

Message us