เร่งคลอดร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสธ.แยกตัวออกจาก ก.พ.ให้ทันใช้ปีหน้า

น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระทรวงสาธารณสุขที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรมว.สาธารณสุข คือ การขับเคลื่อนให้มีการออก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข และบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งดำเนินการต่อเนื่อง สาระของร่างพ.ร.บ.มุ่งสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล อัตรากำลัง และค่าใช้จ่ายภาครัฐ ลดข้อจำกัดต่างๆที่เป็นปัญหาคาราคาซังมาเป็นเวลานาน โครงสร้างการบริหารงานจะปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่เพื่อสามารถบริการประชาชนรวดเร็วขึ้น กล่าวโดยสรุป เป็นการแยกตัวออกมาจากการสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ.

น.ส.ตรีชฎากล่าวว่า การดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ.ข้าราชการสาธารณสุข ฯ พ.ศ…..เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรนั้น มีขั้นตอน เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการจัดทำร่างพ.ร.บ.กส.ธ. ได้เข้าประชุมร่วมกันโดยมีนพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยจะเปิดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ระหว่างวันที่ 22 กรกฎาคม-6 สิงหาคม 2567

จากนั้นวันที่ 10 สิงหาคม 2567 จะสรุปความเห็นจากการรับฟังในแต่ละประเด็น จัดประชุมคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการ ได้ร่างพ.ร.บ.ที่สมบูรณ์ จัดทำรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบ เปิดเผยสรุปผลการรับฟังความเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ ภ่ยในวันที่ 15 สิงหาคม สามารถนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการสธ.และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ต่อจากนั้นในเดือนกันยายน คณะรัฐมนตรีจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ รัฐบาลถึงจะเสนอร่างพ.ร.บ.ให้สภาผู้แทนฯและวุฒิสภาพิจารณาตามกระบวนการทางนิติบัญญัติ

“นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุขให้ความสำคัญกัลบุคลากรของกระทรวงสาธราณสุขมาก เพราะเป็นบุคลากรที่ทำงานกันอย่างทุ่มเทดูแลชีวิตประชาชนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ตอบแทนการทำงานที่ทุ่มเทเพื่อพี่น้องประชาชนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานอย่างมั่นคง การปรับโครงสร้างใหญ่ครั้งนี้ ซึ่งจะต้องตราเป็นกฎหมายเปรียบเสมือนการปฏิรูประบบการบริหารจัดการองค์กร การออกจากสังกัดก.พ.จะทำให้การปฏิบัติงานทั้งอัตรากำลังที่มีประมาณ 400,000 – 500,000 คน งบประมาณ ค่าใช้จ่ายที่จะลดลง มีความคล่องตัวของบุคลากรที่กระจายอยู่ใน 12 เขตบริการ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการให้บริการประชาชน และจะผลักดันกฎหมายฉบับนี้ในขั้นตอนของรัฐสภาให้สำเร็จภายในปี 2568นี้” น.ส.ตรีชฎา กล่าว

Message us