“เรืองไกร” โผล่ยกคำพิพากษาศาลฎีกา อบรมเพื่อไทยปมร้องสอบจริยธรรม “อุ๊งอิ๊งค์”

11 กันยายน  2567  นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่างถึงกรณีที่ร้องขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 ข้อ 21 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง หรือไม่ ว่า คำร้อง ทำให้มีการแสดงความเห็นไปต่างๆ นานา โดยขาดองค์ความรู้ไม่เข้าใจคำที่กำหนดอยู่ในมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งทุกคำที่กำหนดขึ้นในมาตรฐานทางจริยธรรม โดยเฉพาะคำว่าระเบียบแบบแผนของทางราชการ เป็นคำที่มีการใช้ในการวินิจฉัยคดีของศาลยุติธรรมมาแล้วหลายสิบคดี

นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีดังกล่าว ยังทำให้ สส.พรรคเพื่อไทยรายหนึ่ง ที่อาจจะอยากเอาใจนายกฯ ก็ออกมาแสดงความเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยใช้สำบัดสำนวนแสดงความเห็นแบบเจ้าบทเจ้ากลอน มิได้อ้างอิงลายลักษณ์อักษรตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแต่อย่างใด ซึ่งการสู่รู้ออกมาแสดงความเห็นดังกล่าว อันอาจเป็นเหตุให้นายกฯ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายเพราะคิดว่าคำร้องกรณีดังกล่าวไม่มีสาระ และหลงประเด็นที่จะแก้ข้อกล่าวหาต่อ ป.ป.ช. ในโอกาสต่อไป

นายเรืองไกร กล่าวว่า ดังนั้น เพื่อให้ ป.ป.ช. มีแนวทางเพื่อนำไปใช้ในการตรวจสอบเพิ่มเติมตามคำร้องที่อ้างถึง 1.เกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 21 ในส่วนของคำว่าระเบียบแบบแผนของทางราชการ และให้ ป.ป.ช. แจ้งให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อไป จึงขอคัดแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เคยใช้คำดังกล่าวในคำพิพากษาศาลฎีกา มาเป็นตัวอย่างให้ ป.ป.ช. นำไปพิจารณาประกอบ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1. ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1109/2530 ศาลวินิจฉัยไว้บางส่วนดังนี้ “… เห็นว่าคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตดังกล่าวเป็นการปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ตามคำสั่งของสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นการบริหารราชการตามที่กระทรวงทบวงกรมมอบหมาย

ซึ่งได้กำหนดไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ข้อ 53 (1) (2) ถือไม่ได้ว่าคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้สั่งให้ทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตเสนอเรื่องเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเสียก่อนนั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนของทางราชการแต่อย่างใด และทางพิจารณาก็ไม่ได้ความว่าได้มีระเบียบของทางราชการกำหนดวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับคำขอเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมืองแร่ที่ต้องขออนุญาตต่ออธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 อย่างใด ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 2 รับเรื่องราวการขอเปลี่ยนแปลงแผนผังการทำเหมืองแร่ของโจทก์แล้วทำบันทึกเสนอขอความเห็นจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ยังไม่ส่งเรื่องราวดังกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 พิจารณาสั่งการโดยตรง จึงเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ชอบด้วยระเบียบแบบแผนของทางราชการ

และการที่ผู้ถือประทานบัตรจะขอเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเหมือง แผนผังโครงการ และเงื่อนไขจะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีก่อน ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 57 นั้น กฎหมายก็มิได้บังคับว่าอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีจะต้องอนุญาตเสมอไปหากแต่ให้อยู่ในดุลพินิจที่จะพิจารณาอนุญาตหรือไม่ก็ได้ ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1 สั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตแจ้งต่อทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตเพื่อแจ้งต่อโจทก์ทั้งสองว่า หากจะเปิดทำการเหมืองแร่จะต้องปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินั้น เป็นการใช้ดุลพินิจสั่งการตามข้อตกลงใจของนายกรัฐมนตรี และมติของคณะรัฐมนตรีซึ่งตัดสินใจให้นโยบายไว้โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติหาเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าว หรือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่อย่างใดไม่ …”

ข้อ 2. ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3669/2531 ศาลวินิจฉัยไว้บางส่วนดังนี้ “เห็นว่าคดีโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้นเป็นคดีที่กล่าวหาว่าจำเลยจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบแบบแผน ไม่ควบคุมดูแลการรับเงินและการส่งเงิน จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 4 ยักยอกเงินของโจทก์ไปได้ และทำให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลละเมิดและเรียกค่าสินไหมทดแทน โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องได้”

นายเรืองไกร ยังสรุปว่า วันนี้จึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึง ป.ป.ช. เป็นการเพิ่มเติมคำร้องครั้งที่ 1. เพื่อขอให้ ป.ป.ช. นำตัวอย่างแนวคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองคดีข้างต้น ไปใช้ประกอบการตรวจสอบ น.ส.แพทองธารว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 ข้อ 21 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง หรือไม่ และต้องส่งศาลฎีกาพิพากษาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) หรือไม่ และจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไปตาม มาตรา 235 วรรคสี่ หรือไม่

Message us