“หมอเปรม”วอนนายกฯแพทองธารอย่าลอยแพประชาชน

เมื่อวันที่ 23 กันยายน ในการประชุมวุฒิสภา นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี ถึงเรื่องนโยบายการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ว่า กระทู้นี้ตนตั้งใจจะถามนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2567 ก็ไม่คาดคิดว่า จะประสบอุบัติเหตุทางการเมืองจนมาเปลี่ยนเป็นนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แต่ตนก็ยังมุ่งมั่นถามเรื่องนี้ เพราะพี่น้องที่อยู่ รพ.สต.ต่างๆ ทั้ง 9,827 แห่งทั่วประเทศกำลังรอคอยคำตอบจากรัฐบาล แม้นายกฯ คุมคณะกรรมการกระจายอำนาจแต่ได้มอบหมายรองนายกรัฐมนตรี โดยเฉพสะ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย มอบหมายให้ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย มาตอบกระทู้แทนตนก็ไม่ขัดข้อง แต่ว่าบางข้อถ้า รมช.มหาดไทยตอบไม่ได้ก็ฝากคำถามไปถึง นายกฯด้วย เพราะมันเกี่ยวกับอำนาจของนายกฯ

นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายถ่ายโอน รพ.สต.ชื่อเดิมคือสถานีอนามัยมาเปลี่ยนใหม่เป็นรพ.สต.ให้อยู่ใกล้ชิดประชาชน เดิมนั้น สังกัดกระทรวงสาธารณสุขให้เปลี่ยนมาเป็นสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ตามพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจปี 2542 แต่เพิ่งจะมาทำจริงจังปี 2564 การให้ รพ.สต.มาอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนเป็นเรื่องดี แต่การปฏิบัติยังมีปัญหาอยู่มาก วันนี้พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากผู้ให้บริการคือ เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ขาดขวัญกำลังใจและยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการถ่ายโอน การย้ายจากกระทรวงสาธารณสุขมาอยู่กระทรวงมหาดไทยคือ อบจ.ยังติดขัดข้อกฎหมาย การถ่ายโอนภารกิจเกี่ยวข้องกับ 3 เรื่องคือ คน เงิน และงาน ดังนั้นจะขอถามทั้ง 3 ประเด็นเพื่อให้เกิดความกระจ่าง

นพ.เปรมศักดิ์กล่าวว่า ข้อที่ 1 การโอนรพ.สต.เป็นการโอนภารกิจระบบปฐมภูมิคือคนเจ็บไข้ได้ป่วยสิ่งแรกนึกถึงก่อนคือสถานีอนามัยหรือนึกถึงหมออนามัยเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดกับตนเอง ภารกิจเดิมนั้นอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขงบประมาณพอเพียงในการดำเนินการ แต่เมื่อถ่ายโอนภารกิจสำนักงบประมาณซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีไม่จัดสรรงบประมาณตามประกาศของคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเพียงพอนั่นก็คือ งบเงินเดือนค่าตอบแทนบุคลากรตามโครงสร้างขนาดของรพ. สต.ซึ่งมี 3 ขนาด ขนาดใหญ่คือ L ขนาดกลางคือ M และขนาดเล็กคือ L และเงินสนับสนุนตามประกาศของคณะกรรมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นก็ยังไม่ดำเนินการตามที่ตกลงกันไว้

ทั้งนี้ 2.เหตุใดจึงไม่มีมาตรการในการคงมาตรฐานในการให้บริการระดับปฐมภูมิ ตามมาตรฐานคือ ประชาชนได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตามหลักทั้งเรื่องยา เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ แต่ว่าหลังจากถ่ายโอนไปแล้ว ข้อนี้ยังไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มที่ ตนเคยเป็นหมอบ้านนอกมาก่อนอยู่โรงพยาบาลรู้เห็นถึงปัญหาอุปสรรคเรื่องนี้เป็นอย่างดีวินิจฉัยโรคแล้ว แต่ไม่สามารถเบิกยาและเวชภัณฑ์ให้กับประชาชนได้ ตามที่เขาเจ็บไข้ได้ป่วย สำหรับข้อที่ 3 ก็คือ จากประกาศของคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บอกว่า หลังจากการถ่ายโอนภายใน 2 ปีจะต้องมีบุคลากรเพิ่มตามกรอบอัตรากำลังตามขนาด รพ. สต แต่ปัจจุบันบุคลากรยังมีไม่ถึง 50% ที่สำคัญก็คือยังไม่มีการบรรจุข้าราชการเพื่อจะมาทดแทนข้าราชการที่จะเกษียณ นี่ใกล้สิ้นปีงบประมาณวันที่ 30 กันยายนอีกไม่กี่วัน ยังไม่มีการประกาศอัตรามาทดแทนคตนเก่าที่จะเกษียณปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขอย่างไร

นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า พี่น้องหมออนามัยทั่วประเทศทั้ง 9,872 แห่งจะได้เข้าใจตรงกันแล้วปฏิบัติไม่ถูกว่า รัฐบาลจะเอาอย่างไร ปัญหาเหล่านี้ถ้ารมช.มหาดไทยตอบไม่ได้ก็บันทึกไปหาท่านนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะความจริงแล้วตนจะถามท่านนายกฯ คำถามก็คือจากการที่สำนักงบประมาณไม่สามารถจัดสรรงบประมาณตามที่ประกาศไว้ในคณะกรรมการกระจายอำนาจได้ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์เงินอุดหนุนที่บอกว่า SML อยากจะถามว่า ใครเป็นคนตั้งคณะทำงานนี้และใช้อำนาจอะไรแต่งตั้งเพราะคณะกรรมการนี้จะมีอำนาจเหนือคณะกรรมการกระจายอำนาจได้อย่างไร คณะกรรมการกระจายอำนาจใหญ่ที่สุดแล้ว ทำการแทนนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว

สำหรับ ประเด็นที่บอกว่า ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ขอให้จริงอย่าปล่อยให้พี่น้องหมออนามัยฝันค้างหลอกประชาชนแบบนี้มานานแล้ว เพราะการทำงานทุกอย่างต้องใช้งบประมาณ ตอนนี้พี่น้องหมออนามัยถามเหมือนเพลงว่า “อยากเจอคนจริงใจมีไหมแถวนี้” อีกประเด็นที่บอกว่าแพทย์ไม่ได้ถูกโอนไปด้วยเป็นเรื่องที่จะต้องหาวิธีการแก้ไขด้วย เพราะหลังโอนมารพ.สต.แพทย์ก็ไม่ได้มาอยู่ด้วย ตามพ.ร.บ.ปฐมภูมิต้องมีแพทย์มาดูแลด้วย ตอนนี้ทางรัฐบาลกำลังทำผิดกฎหมายหรือเปล่า เพราะว่า พ.ร.บปฐมภูมิมีสภาพบังคับและมีบทลงโทษด้วยถ้าหากทำไม่ได้ก็ต้องไปอ่านกฎหมายใหม่ และอีกคำถามหนึ่งทำอย่างไรให้อบจ.ไปซื้อยาและเวชภัณฑ์ได้ด้วยตัวเองเพื่อรักษาประชาชนได้ทันที

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกี่ยวกับสำนักงบประมาณ รมช.มหาดไทยไม่ได้คุมสำนักงบประมาณปัญหาตรงนี้คือ สำนักงบประมาณใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องกับความทุกข์ยาก ของประชาชน ขอให้สำนักงบประมาณได้ทำตามความต้องการขององค์กรปกครองส่วนท้อถิ่น โดยเฉพาะการบรรจุบุคลากรในโครงสร้างใหม่ให้เต็มพิกัด ไม่ใช่เสนอได้แค่ 80% ปัญหาเกี่ยวกับรพ.สต. ตนขอให้นายทรงศักดิ์ได้รายงานไปยังนายกรัฐมนตรีด้วยว่าจะแก้ไขอย่างไร วันนี้ประชาชนเสมือนหนึ่งถูกลอยแพ จึงขอฝากไปถึงนายกรัฐมนตรีว่ารัฐบาลแพทองธารอย่าลอยแพประชาชน

Message us