“ศิริกัญญา”แนะปรับลดงบอีก 2 แสนล้านรับมือความผันผวนของศก.ในอนาคต

เมื่อวันที่ 3 กันยายน มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม วาระสำคัญเป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ในวาระที่ 2 และ 3 ที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งในวาระ 2 เป็นการเปิดอภิปรายจากผู้สงวนคำแปรญัตติแบบรายมาตรา และในวาระ 3 เป็นการเห็นชอบทั้งฉบับ การประชุมวันนี้และวันพรุ่งนี้จะเริ่มประชุมในเวลา 09.00 -22.00 น. และวันที่ 5 ก.ย. เริ่มตั้งแต่ 09.00 น. และคาดว่าจะได้ลงมติให้ความเห็นชอบร่างทั้งฉบับราว 21.00 น.

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ แถลงหลักการต่อสภาว่า คณะกรรมาธิการได้พิจารณาร่างงบประมาณปี 68 ตั้งแต่ 26 มิ.ย.-28 ส.ค. 2567 คณะกรรมาธิการได้ให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ที่ประชาชนจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณที่มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อให้การดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยรับงบประมาณสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความจำเป็นความต้องการในพื้นที่ และแผนพัฒนาพื้นที่ทราบความต้องการของประชาชน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนหน่วยรับงบประมาณภายใต้หลักธรรมาภิบาล สุจริต โปร่งใส และเป็นธรรม โดยมีข้อเสนอภาพรวมที่สำคัญ เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการเกี่ยวกับการออกมาตรการควบคุมระดับหนี้สาธารณะให้ลดลง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังของประเทศและกำหนดนิยามของรายจ่ายลงทุนให้มีความชัดเจน เพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณการเก็บรายได้สะท้อนกับความเป็นจริง หน่วยรับงบประมาณควรจะบูรณาการร่วมกัน ซึ่งจะช่วยการบริหารงบประมาณภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญได้ปรับลดงบประมาณจำนวน 7,824,398,500 บาทถ้วน โดยได้พิจารณาสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งเป้าหมาย ผลดำเนินงานจริง ความคุ้มค่าความพร้อมในการดำเนินงาน และศักยภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ ตลอดจนให้ความสำคัญกับเงินนอกงบประมาณหรือรายได้ที่จัดเก็บเองของหน่วยรับงบประมาณเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา

“ผมขอถือโอกาสนี้ขอบคุณท่านกรรมาธิการวิสามัญทุกท่าน ที่ได้ให้ความสำคัญเสียสละเวลา และร่วมมือกันในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2568 อย่างเต็มที่ จนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี พร้อมทั้งขอขอบคุณท่านหัวหน้าหน่วยรับงบประมาณทุกท่านที่ได้ให้ความร่วมมือในการชี้แจงรายละเอียด และเตรียมเอกสารให้คณะกรรมาธิการวิสามัญเป็นอย่างดี รวมถึงสำนักงบประมาณที่ได้สนับสนุนข้อมูลประกอบการพิจารณา ตลอดการประชุมคณะกรรมาธิการด้วยเช่นกัน สุดท้ายนี้กระผมและคณะกรรมาธิการวิสามัญยินดีและพร้อมที่จะชี้แจงข้อซักถามของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติในแต่ละมาตราต่อไป ขอบพระคุณครับ” นายจุลพันธ์ กล่าว

ต่อมา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญฯ เสียงข้างน้อย อภิปรายขอปรับลดงบประมาณลงอีกราว 2 แสนล้านบาท ให้เหลือ 3.5 ล้านบาทเศษ โดยน.ส.ศิริกัญญา ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐวิสาหกิจถูกปรับลดไปครึ่งหนึ่งจากที่ของบประมาณมา บางหน่วยงานถูกตัดงบจนไม่เหลือเลย เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่ง ธ.ก.ส. ของบประมาณมา 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่อยู่ในแผนบริหารชำระหนี้ไม่ถูกตัดงบ แต่ส่วนของแผนยุทธศาสตร์กลับถูกตัดงบประมาณลงทั้งหมด รวมแล้วรัฐวิสาหกิจที่เป็นธนาคารของรัฐ ถูกตัดงบลงไป 3.5 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการปรับลดงบของหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม ตัดลงไป 7% ในโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟ ประมาณ 120 ล้านบาท, กระทรวงดิจิทัล ตัดงบประมาณของระบบเตือนภัย Cell Broadcast เนื่องจากซ้ำซ้อนกับงบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ของกระทรวงมหาดไทย ประมาณ 200 ล้านบาท ขณะที่สำนักนายกรัฐมนตรีตัดงบงวดงาน และงบประมาณในส่วนของโครงการซอฟท์พาวเวอร์ ส่วนกระทรวงกลาโหมถูกตัดงบประมาณน้อยกว่าทุกปี

น.ส.ศิริกัญญา อภิปรายว่า งบบางส่วนที่ไม่ควรตัดกลับถูกตัด เช่น ธนาคารรัฐวิสาหกิจ และยังมีส่วนที่เป็นไขมันและยังรีดได้อีกมาก คือโครงการที่ซ้ำซ้อน ไม่สมเหตุสมผล ยังขาดเป้าหมายวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน เช่น โครงการ Anywhere Anytime ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการถกเถียงว่าใช้งบประมาณทำแบบเรียนออนไลน์สูงเกินจริง และสุดท้ายไม่ได้ตัดงบประมาณส่วนนี้ โดยอีก 3 วันต่อไปนี้ จะมีการอภิปรายลงรายละเอียดว่ามีงบประมาณส่วนใดที่เป็นไขมันสามารถตัดออกได้อีกบ้าง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

น.ส.ศิริกัญญา ยังอธิบายเหตุผลที่จำเป็นต้องปรับลดงบประมาณลง เพราะเราไม่ได้มีศักยภาพมากพอจะใช้จ่ายงบประมาณถึง 3.7 ล้านล้านบาท เนื่องจากงบประมาณ 2568 ได้ประมาณการรายได้มาตั้งแต่ธันวาคม 2566 ที่ประมาณการรายได้ไว้ถึง 2.887 ล้านล้านบาท และเชื่อว่าเศรษฐกิจในปี 2567 จะโตขึ้น 3.2% แต่เหตุการณ์ได้เปลี่ยนไปมาก เพราะเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะชะลอตัวลง

“ปี 2567 การเติบโตของเศรษฐกิจเหลือ 2.5% แล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลโดยตรง ปี 2568 ก็เช่นเดียวกัน ถูกปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจเหลือ 3.0% เท่านั้น แล้วเราจะจัดเก็บรายได้เท่าเดิมที่ประมาณการไว้คือเกือบ 2.9 ล้านล้านบาท ได้อย่างไร” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เปลี่ยนแปลง แต่ประมาณการรายได้ของปี 2568 ไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนเลย และเมื่อมีแนวโน้มจะจัดเก็บรายได้ไม่ตรงตามที่คาดหมายไว้ ยิ่งควรปรับลดงบประมาณลง ยกตัวอย่างเช่น กรมสรรพสามิต ที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2567 ว่าจะจัดเก็บรายได้ 598,000 บาท แต่เก็บจริงกลับหลุดเป้าไปเกือบ 7 หมื่นล้านบาท 

“เนื่องจากเรามีการปรับลดภาษีราคาน้ำมันเพื่อช่วยค่าครองชีพ และปรับภาษีรถยนต์ EV เพื่อกระตุ้นการลงทุนในรถ EV รวมถึงบุหรี่ที่ไม่สามารถเก็บภาษีได้ และพลาดเป้าไปเกือบ 1 หมื่นล้านบาท และในปี 2568 ก็ตั้งเป้าไว้อย่างท้าทายว่าจะจัดเก็บรายได้ถึง 609,700 ล้านบาท เพราะนโยบายภาษี EV ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ภาษีบุหรี่ก็ไม่มีการปรับปรุงนโยบายแต่อย่างใด” น.ส.ศิริกัญญากล่าว พร้อมย้ำว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าว น.ส.ศิริกัญญา จึงขอปรับลดงบประมาณอีกราว 2 แสนล้านบาท ให้เหลือ 3.5 ล้านบาทเศษ เนื่องจากเพื่อความระมัดระวัง และรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคต

Message us