“ภาสกร”โชว์วิสัยทัศน์ปั้นปทุมธานีเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมริมน้ำเจ้าพระยา

รายงานพิเศษ โดย…พงศ์พัทธ์ วงศ์ยะลา

พ่อเมืองปทุมธานี ใหม่ถอดด้าม “ภาสกร บุญญลักษม์” เพิ่งมารับตำแหน่งผู้ว่าฯ ปทุมธานีเมื่อ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา มาถึงวันนี้ก็เพิ่งทำงานได้ 1 เดือนกว่า ๆ ตั้งแต่มารับตำแหน่งก็ได้ลงพื้นที่ เพื่อรับรู้ปัญหาในจังหวัดปทุมธานี โดยเฉพาะปัญหาของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

ปัจจัยหลักของจังหวัดปทุมธานี คือเรื่องอุตสาหกรรมที่เป็นรายได้หลักของจังหวัด และเป็นรายได้ของประเทศ ความมุ่งมั่นของผู้ว่าฯภาสกรคือต้องสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ ทั้งเรื่องความปลอดภัย แก้ปัญหายาเสพติด และสาธารณภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อัคคีภัยและอุทกภัย ทั้งในนิคมอุตสาหกรรมและนอกนิคมอุตสาหกรรม เพื่อทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่น

ผู้ว่าฯปทุมธานี บอกว่า สิ่งที่สนใจมาก คือการท่องเที่ยวและภาคการเกษตร จังหวัดปทุมธานีเรามีศักยภาพในการท่องเที่ยวมากเรามีสายน้ำหลักของประเทศไหลผ่านคือแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่ได้ใช้ประโยชน์จริงจังจากสายน้ำเจ้าพระยาเลย มีเพียงแค่การขนส่งเท่านั้นเอง เราไม่เคยเปิดมิติการท่องเที่ยวทางน้ำเลย

จึงอยากจะดึงมิติการท่องเที่ยวทางน้ำโดยใช้สายน้ำเจ้าพระยามาให้ประโยชน์ ตั้งแต่ กรุงเทพฯ นนทบุรี จนถึงปทุมธานี เป็นเรื่องที่อยากจะเน้นหนักและก็อยากจะเชิญชวนในส่วนของประชาชน ภาคเอกชนมาร่วมด้วย ถ้าเราสามารถพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำได้ คนริมน้ำต่างๆเขาก็จะตกแต่งบ้านเรือนริมน้ำไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม หรือร้านค้า ร้านอาหาร ก็จะดูมีชีวิตชีวาสวยงาม เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว อันนี้เป็นสิ่งแรกที่ผมอยากจะทำ

ในส่วนของการสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของเรา จังหวัดปทุมธานีเป็นแหล่งก่อกำเนิดศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆอย่างมากมายแต่เราไม่มีการสืบสานและขับเคลื่อนเชิดชูแบบจริงจัง ทำให้วัฒนธรรมของเราในแต่ละพื้นที่ ไม่โดดเด่น ทั้งที่เรามีวัฒนธรรมต่างๆวัฒนธรรมชาวมอญอยู่กันอย่างมากมาย แต่วัฒนธรรมชาวมอญกับไปโดดเด่นที่จังหวัดอื่นไม่ใช่จังหวัดของเรา จึงจำเป็นต้องรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมของเราไว้

“ผมได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาคีเครือข่ายมาร่วมหารือ การเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดของผมไม่ได้เป็นคนกำหนดทิศทางในการพัฒนา แต่เป็นคนกำหนดโครงสร้างการพัฒนาที่แข็งแรง ความต้องการต้องมาจากพี่น้องประชาชนคนปทุมธานี คนปทุมธานีต้องการอะไรจะนำไปบรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาก็ต้องเดินตามยุทธศาสตร์เหล่านี้ ซึ่งเป็นความต้องการของพี่น้องประชาชน” ผู้ว่าฯปทุมธานีบอก

ส่วนการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว เราต้องทำโครงการท่องเที่ยวต่างๆ เชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมโบราญสถาน เที่ยวเชิงวัฒนธรรม แวรับประทานอาหารอร่อย ทำให้แต่ละพื้นที่ก่อเกิดรายได้จากการท่องเที่ยว เราต้องพัฒนาด้านศิลปวัฒนธรรม สร้างอัตลักษณ์ การอนุรักษ์ และสร้างคุณค่าศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดปทุมธานี สร้างการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้แนวคิด “สายน้ำเจ้าพระยา” ที่สำคัญเราต้องปลุกการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สืบสานวัฒนธรรมให้กับอนุชนรุ่นหลังได้รู้ถึงความเป็นมา จัดให้เป็นงานประจำปี งานประจำจังหวัด
เรามีศักยภาพในเรื่องของหอประชุมขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นของมหาวิทยาลัย ศูนย์รังสิต หรือองค์กรส่วนท้องถิ่นเราจะใช้ศักยภาพที่เรามีอยู่ดึงคนเข้ามา จัดสัมมนา จัดการประชุมต่าง ๆ รวมถึงการจัดงานแฟร์ใหญ่ๆ รายได้ก็จะเข้ามาในพื้นที่

เรามีมหาวิทยาลัยหลายแห่งมาก มีศูนย์วิทยาศาสตร์ มีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ หออัครศิลปิน สวนสนุกขนาดใหญ่ มันอยู่ในจังหวัดปทุมธานีทั้งหมด ที่กำลังก่อสร้างก็สวนสัตว์ที่ คลอง 6 เราจะต้องพัฒนาเมืองปทุมธานีของเราเป็นเมืองวิทยาศาสตร์ และให้น้อง ๆ นักเรียนมาดูงานได้ ถ้ามาดูงานได้ มาเที่ยวได้ ก็หมายความว่า พี่น้องของเราสามารถที่จะมาขายอาหาร ทำมาค้าขายได้อีกมาก สร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ เราต้องดูทุกมิติไม่ใช่ศิลปวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว

ด้วยศักยภาพที่เราอยู่ใกล้กรุงเทพฯมากนั่งรถมาไม่นานก็ถึง เราต้องใช้ประโยชน์ที่เรามีอยู่ ของดีในจังหวัดปทุมธานีเรามีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน สินค้าโอทอปต่าง ๆ อาหารพื้นถิ่น เช่น ข้าวแช่ เราจะจัดเทศกาลการกินข้าวแช่ เชิญชวนคนกรุงเทพฯและปริมณฑลมากินมาชิม เพราะว่าอาหารมอญแท้ๆอยู่ตรงนี้ปทุมธานีบ้านเรา จัดเทศกาลอาหารปลอดภัย เรามีวัตถุดิบในการทำอาหารมากมายไม่ว่าจะเป็นกุ้งแม่น้ำ ปลา รวมถึงผักปลอดสารต่าง ๆ ที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้มาลิ้มลอง

สำหรับ ประเพณีต่างๆ เช่น ประเพณีตักบาตรพระร้อย ประเพณีแห่หงส์ ธงตะขาบ ประเพณีโยนบัว ตนพยายามมานั่งดูปฏิทินการท่องเที่ยวต่างๆ ของเราว่ามีอะไรบ้าง เพราะว่าจังหวัดปทุมธานี เราเที่ยวได้ทั้งปี ไม่มีข้อจำกัด 365 วัน เที่ยวได้ทุกวัน เราสามารถเชิญกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มาร่วมงานด้วย ในการสร้างอัตลักษณ์ตัวตนของเรา ฉะนั้นงานมันจะยิ่งใหญ่ขึ้นไม่ใช่จัดตามมีตามเกิด

นักท่องเที่ยวก็อยากเดินทางมาเที่ยว มากินมาใช้ มาถ่ายรูปสวยๆ ในเมื่อเราทำโครงสร้างที่ดีมีการประชาสัมพันธ์ที่ดี ปทุมธานีจะเป็นจังหวัดที่คนมาเที่ยวมาพักผ่อนอย่างมากมาย รายได้จากการท่องเที่ยวจะหลั่งไหลเข้ามาในจังหวัด แต่สิ่งที่สำคัญเราจะต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและเรื่องขยะต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังการมาท่องเที่ยว

ขณะที่ เรื่องการเกษตร เรามีข้าวของเราเองชื่อ ข้าวหอมปทุมธานี ที่มีรสชาติที่ดี เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดปทุมธานี เราต้องรักษาไว้ และปทุมธานีเป็นแหล่งปลูกกล้วยหอมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย กล้วยหอมทองของจังหวัดปทุมธานี มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ ผลใหญ่ยาว เปลือกบาง ผิวนวล เนื้อเหนียวแน่น ผลดิบจะมีสีเขียวนวล เมื่อสุกจะมีสีทองนวล รสชาติหวานหอม จนได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เกษตร พาณิชย์ อุตสาหกรรม ต้องจับมือเดินไปด้วยกัน เราต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่เรามีอยู่

แนวทางการจัดการปัญหาขยะ เราต้องผลักดันให้มีโรงงานกำจัดขยะของเราเอง ที่ผ่านมาเราบริหารจัดการโดยการนำไปทิ้งนอกพื้นที่ เช่น ไปทิ้งที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ในอนาคตเราต้องบริหารจัดการขยะเอง เพราะเราเป็นเมืองใหญ่มีขยะเกิดขึ้นในแต่ละวันอย่างมากมาย เราต้องคัดแยกขยะ ตั้งแต่ครัวเรือน ทำให้ขยะที่เรามี ก่อประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะนำขยะไปผลิตกระแสไฟฟ้า หรือเอาไปทำปุ๋ย เรื่องการบำบัดน้ำเสียของครัวเรือนก็เป็นสิ่งสำคัญ ให้ท้องถิ่นบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ในการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงแม่น้ำลำคลอง

เรื่องความเดือดร้อนความต้องการของประชาชนต้องเริ่มทำเลย เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เช่น ไฟฟ้าส่องสว่าง ถนนชำรุด ได้สั่งการให้ท้องถิ่นแต่ละพื้นที่สำรวจความเสียหาย การชำรุด ว่า มีจุดไหนบ้าง รวบรวมมาให้ ตนจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมชี้แจง ถ้าหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซมก็ต้องปล่อยให้ท้องถิ่นแต่ละพื้นที่เขาจัดการ เอางบมาซ่อมแซมดูแล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ภาครัฐจะต้องทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน มองปัญหาร่วมกัน เพราะมันไม่ใช่ปัญหาขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง เพื่อให้สิ่งต่างๆ ที่เป็นปัญหา ลดลงตามลำดับ ทั้งหมดนี้คือปัญหาของพี่น้องประชาชน เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ ความอยู่ดีมีสุขของพี่น้องประชาชน

สำหรับ ภาสกร บุญญลักษม์ เป็นชาวกรุงเทพมหานคร เกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2510 จบการศึกษาจากระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นรับราชการในตำแหน่งนายอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี จากนั้น มาเป็นนายอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ตามด้วยรักษาราชการแทนนายอำเภอเมืองนนทบุรี ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็นนายอำเภอเมืองนนทบุรี ในปี 2554

ตามด้วยตำแหน่งนายอำเภอเมืองพิษณุโลกและได้รับรางวัล ครุฑทองคำ จากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเมื่อปี 2558 จากผลงานการจับกุมพ่อค้ายาเสพติดได้อย่างต่อเนื่อง จนขยายผลเข้าไปถึงในเรือนจำ ต่อมาในปีเดียวกัน ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นปลัดจังหวัดกำแพงเพชร

ในปี 2560 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในยุคที่นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด และได้ร่วมในภารกิจช่วยเหลือ 13 หมูป่ากระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม 2563 จึงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย แทนนายประจญ ปรัชญ์สกุล ที่ขยับไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

ดำรงตำแหน่งได้เพียงปีเดียว ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ สลับกับนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ และจากการโยกย้ายในครั้งนี้ส่งผลให้อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จิตรกรชื่อดังและศิลปินแห่งชาติถึงกับหลั่งน้ำตา โดยให้เหตุผลว่านายภาสกรเป็นคนมุ่งมั่นในการทำงาน ในวันที่ 18 กันยายน 2566 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ประชุมมีมติให้มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี สืบต่อจากนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร หรือผู้ว่าหมูป่าที่เสียชีวิตไป

Message us