พบผู้หญิงทั่วโลก 1 ใน 3 เจอความรุนแรงด้านจิตใจมากที่สุด

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ความรุนแรงทั่วโลก ปัญหาที่ยังพบคือ “ความรุนแรงในครอบครัว” และ “ความรุนแรงทางเพศ” ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในช่องทางต่างๆ ทุกวันนี้  สสส. พบข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ประเทศไทยมีสถิติคดีความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกอย่างต่อเนื่อง และพบ 1 ใน 3 เป็นความรุนแรงทางด้านจิตใจ ขณะที่มีกลุ่มผู้หญิงที่กล้าออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่ถูกกระทำรุนแรง และร้องขอความช่วยเหลือจำนวนน้อยมาก ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดทิศทางงานด้านสุขภาพระดับโลก ให้ความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข และสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ เพราะเป็นปัญหาซับซ้อนหลายมิติ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ ที่ส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัว คนใกล้ชิด หรือคนรู้จัก และยังพบทัศนคติจากคนรอบข้างว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว

ทั้งนี้ จึงเป็นที่มาให้ สสส. สนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หลังพบว่า ความชุกความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 34.6 โดยร้อยละ 82.6 ไม่ไปขอความช่วยเหลือจากบุคคลหรือหน่วยงาน ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า “เป็นเรื่องส่วนตัว” และพบความรุนแรงด้านจิตใจสูงสุด ร้อยละ 32.3 รองลงมาคือ ทางร่างกายร้อยละ 9.9 และทางเพศร้อยละ 4.5 และมีผู้หญิงจำนวนมากไม่กล้าเปิดเผยว่าถูกกระทำความรุนแรง

นางภรณี กล่าวต่อว่า สสส. สานพลังภาคีเครือข่ายพัฒนาระบบงานสหวิชาชีพ จัดการกรณีปัญหา (case management) ความรุนแรงต่อผู้หญิง และความรุนแรงในครอบครัว ที่ครบวงจรและมีประสิทธิภาพ เอื้อให้ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงให้มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการจัดการปัญหาที่มีคุณภาพมากขึ้น ผ่านการพัฒนาและเสริมศักยภาพของแกนนำชุมชน และทีมสหวิชาชีพในการคุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคลในครอบครัว รวมถึงพัฒนาคู่มือสำหรับชุมชนในการประเมินความเสี่ยงของการเกิดความรุนแรง  หลักสูตรการพัฒนาศักยภาพคนทำงานด้านความรุนแรงต่อผู้หญิง หลักสูตรฐานคิดและทักษะการปฏิบัติงานบนฐานความเป็นธรรมทางเพศสำหรับตำรวจหญิง หลักสูตรการปรึกษาในภาวะวิกฤตสำหรับผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว  หลักสูตรการปรึกษาเพื่อเยียวยาเด็กที่ถูกใช้ความรุนแรง หลักสูตรความรู้ด้านกฎหมายและการประสานงานสหวิชาชีพระดับจังหวัด  และการสื่อสารสังคมเรื่องการ “ไม่เพิกเฉย” ต่อความรุนแรง หรือมองว่าความรุนแรง “เป็นเรื่องของคนอื่น” รวมถึงการเสริมพลังและการปกป้องคุ้มครองตนเองให้รอดพ้นจากความรุนแรงในทุกมิติ โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษ เช่น ผู้หญิงพิการทางการได้ยิน ที่ประสบความยากลำบากในการสื่อสารแจ้งความดำเนินคดี หรือการเข้ากระบวนการรักษาเยียวยาจิตใจ เพื่อก้าวสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

“นโยบายสาธารณะกำหนดชะตาชีวิตผู้หญิงได้ สสส. มีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามSustainable Development Goals-SDGs ของสหประชาชาติ ข้อ 5.2 ที่ระบุให้การขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัวเป็นเป้าหมายที่ประเทศต่างๆ ต้องให้ความสำคัญและทำให้บรรลุเป้าหมาย จึงอยากเชิญชวนทุกคนมาร่วมงานประชุมวิชาการเสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน ครั้งที่ 2 ในวันที่ 21 – 23 ก.พ. 2566 ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ สสส. ตั้งใจให้งานนี้เป็นพื้นที่กลางของการส่งเสียงที่ยังแผ่วเบาให้มีพลังมากขึ้น เชิญฟังเสียงสะท้อนแง่มุมต่างๆ เพื่อทำให้ฉุกคิดถึงปัญหาที่เกิดในสังคม และส่งเสียงไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ร่วมกันสนับสนุนและแก้ปัญหาสังคมมิติต่างๆ ที่อาจตกหล่นไป เพื่อเหยื่อที่ถูกกระทำความรุนแรงและสังคมที่ปลอดภัยน่าอยู่ร่วมกัน” นางภรณี กล่าว

Message us