ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ชวนเชฟคนดังโชว์ปรุง 6 เมนูเด็ด”ปลาหมอคางดำ”

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. นำคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และสื่อมวลชนร่วมกิจกรรม BKK Food Bank และสาธิตการทำเมนูอาหารด้วยปลาหมอคางดำที่รับซื้อจากเกษตรกรชาวบางขุนเทียน โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯกทม. นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน นายปิติ มนัสประกัลภ์ President Business Development บริษัท สหสเตนเลส สตีล จำกัด ผู้แทนสำนักพัฒนาสังคม สื่อมวลชน ประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่เขตบางขุนเทียน ร่วมกิจกรรม ณ ที่สำนักงานเขตบางขุนเทียน

ทั้งนี้ สำนักงานเขตบางขุนเทียนโชว์ฝีมือ ผ่าน 6 เมนูเด็ด ได้แก่ ปลาหมอคางดำราดซอสเปรี้ยวหวาน ปลาหมอคางดำทอดเกลือ ห่อหมกปลาหมอคางดำ ฉู่ฉี่ปลาหมอคางดำ แกงส้มปลาหมอคางดำ และปลาร้าจากปลาหมอคางดำ นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก 2 เชฟมือทอง ได้แก่ เชฟชุมพล – นายชุมพล แจ้งไพร ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร (Soft Power) ที่มารังสรรค์เมนู Fine Dining ปลาหมอคางดำราดพริกสมุนไพร และเชฟชีส – เมธัส ปาทาน Corporate Chef บริษัท สหสเตนเลส สตีล จำกัด ที่มารังสรรค์เมนู Fine Dining ปลาหมอคางดำราดซอสมะขาม

นายชัชชาติ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตาม 6 มาตรการของกรมประมง โดยเราได้ดำเนินการใน 3 เรื่อง 1. กำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ 2. นำปลาหมอคางดำที่กำจัดมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และ 3. หาแนวร่วมโดยประสานกับภาคส่วนต่าง ๆ สำหรับสำนักงานเขตบางขุนเทียนได้ร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ ซึ่งในวันนี้ คณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขตบางขุนเทียนได้ช่วยซื้อปลาหมอคางดำจำนวน 1 ตัน (1,000 กิโลกรัม) โดยให้ราคากิโลกรัมละ 20 บาท และยังมีเชฟชีส จากสหสเตนเลสสตีล กับเชฟชุมพล ประธานอนุกรรมการฯ Soft Power มาร่วมสร้างสรรค์เมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ ซึ่งจะทำให้เกิดแรงจูงใจในการลดจำนวนปลาหมอคางดำโดยการจับมาสร้างมูลค่าเพิ่มแทนการจับไปทิ้ง โดยวันนี้ได้มีการแจกปลา 1 ตัน ทั้งในรูปแบบปลาสด และแบบนำมาทำอาหารแล้ว ให้แก่กลุ่มเปราะบาง ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ตลอดจนสื่อมวลชนที่มาร่วมกิจกรรม ซึ่งในส่วนของรสชาตินั้น เมื่อนำมาทำอาหารแล้วพบว่ามีความอร่อยไม่แพ้เนื้อปลาอื่น ทั้งนี้ การกำจัดปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศและนำไปใช้ประโยชน์ด้วยการนำมาทำอาหารเพื่อส่งต่อไปยังกลุ่มเปราะบาง จะขยายผลไปยัง BKK Food Bank สำนักงานเขตอื่น ๆ ด้วย

ด้าน เชฟชุมพล กล่าวว่า ใคารที่ยังไม่เคยลองทาน รสชาติปลาหมอคางดำจะคล้ายกับปลานิล แต่อาจจะมีความกระด้างกว่าเล็กน้อย เพราะเขาเป็นปลาสายพันธุ์ปลานักสู้/ปลานักล่าเช่นเดียวกับปลาช่อนหรือปลากะพง ข้อดีคือเป็นปลาที่มีโปรตีนสูง เชื่อว่าด้วยภูมิปัญญาในการทำอาหารหลากหลายชนิดของคนไทย ทั้งนำปลาตัวใหญ่ไปทำอาหาร และนำปลาตัวเล็กไปทำปลาร้า ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มาก และจะลดจำนวนได้อย่างรวดเร็ว เชื่อว่าประมาณ 3 เดือน อาจจะหาจับได้ยากและราคาสูงขึ้น

เชฟชีส กล่าวว่า ปลาหมอคางดำทานได้ แม้รสชาติของเนื้อปลาจะน้อยกว่าปลาที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่เมื่อนำมาทำอาหารไทยซึ่งมีรสชาติเข้มข้น จะทำให้สามารถทานได้เหมือนปลากะพงหรือปลานิลทั่วไป โดยมีข้อสังเกตระหว่างปลาตัวผู้กับปลาตัวเมียที่ขนาดตัว คือ ปลาตัวผู้จะตัวเล็กกว่า เนื้อกระด้างกว่าเล็กน้อย เพราะมีหน้าที่รับฝากไข่ ส่วนปลาตัวเมียจะตัวใหญ่

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวสรุปด้วยว่า กรุงเทพมหานครทำเต็มที่ในส่วนที่สามารถทำได้ ส่วนเรื่องการจำกัดโซน การปล่อยปลาผู้ล่า จะต้องฝากทางกรมประมง ทางรัฐบาล มาร่วมกัน ซึ่งเราพร้อมที่จะเดินตามนโยบายอย่างเต็มที่ สำหรับโครงการ BKK Food Bank เป็นการนำคนที่มีเยอะและอยากแบ่งปันมาเจอคนที่ยังขาด โดยกรุงเทพมหานครตั้งเป้าหมาย BKK Food Bank Center หรือธนาคารอาหาร ให้ครบทั้ง 50 เขต ตอนนี้มีแล้ว 33 เขต


Message us