ผงะ!พบโรงงานแป้งมันปล่อยน้ำเสียลงที่สปก.กว่า 600 ไร่เหม็นคละคลุ้ง

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปยังแปลงที่ดิน สปก. พื้นที่ตำบลหนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา บริเวณด้านหลังโรงงานแปรรูปมันสำปะหลังขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา หลังจากถูกร้องเรียนเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน สปก.แปลงดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งที่ดิน สปก.แปลงดังกล่าวมีขนาดกว่า 600 ไร่ ถูกออกเอกสารสิทธิ์จากทาง สปก.จังหวัดนครราชสีมาให้กับเกษตรกรทั้ง 13 ราย

ทั้งนี้ ในคำร้องขอเอกสารสิทธิ์ทางเกษตรกรได้ระบุเอาไว้ว่า จะทำการเลี้ยงปลาและเพาะสาหร่าย แต่จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า พื้นที่ที่เกษตรกรอ้างว่าจะเลี้ยงปลาและเพาะสาหร่ายกลับเต็มไปด้วยน้ำเสียส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วทั้งบริเวณโดยรอบ จากข้อมูลพบว่าน้ำเสียดังกล่าวถูกปล่อยมาจากโรงงานแปรรูปมันสำปะหลังขนาดใหญ่ ที่อยู่ติดกับบ่อน้ำแห่งนี้ ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านในพื้นที่ใกล้กับบริเวณบ่อน้ำเสีย พบว่า หลายคนไม่กล้าที่จะให้ข้อมูลใด ๆ

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของนายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่าที่ดินแปลงขนาดใหญ่นี้ มีการออกเอกสารสิทธิ์ สปก.มิชอบด้วยกฎหมาย ตามที่ถูกร้องเรียนจริง จากเหตุดังกล่าวข้างต้นทำให้ทางที่ปรึกษารมว.เกษตรฯมีการแจ้งความกับทางตำรวจ ปปป.ให้ดำเนินคดีเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ สปก.จังหวัดนครราชสีมา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว จนทำให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางได้มีการขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการออกเอกสารสิทธิ์ในครั้งนี้ จนนำมาสู่การจับกุมได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาที่จับกุมได้ในจังหวัดนครราชสีมานั้นเป็นอดีตข้าราชการของ สปก.จังหวัดนครราชสีมา ตำแหน่งนายช่างรังวัดที่ดินส่วนผู้ต้องหาอีก 3 ราย ยังรับราชการอยู่ในส่วนกลางถูกควบคุมตัวดำเนินคดีแล้ว นอกจากนี้ในกลุ่มผู้ต้องหาทั้ง 4 รายอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของ สปก.จังหวัดนครราชสีมา ที่ถูกสอบสวนกรณีการออกเอกสารสิทธิ์บนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่บ้านเหวปลากั้ง อ.ปากช่อง

สำหรับ บ่อน้ำเสียแห่งนี้ เป็นของโรงงานแปรรูปแป้งมันสำปะหลังขนาดใหญ่ตั้งอยู่ติดกับบ่อน้ำเสีย เป็นโรงงานก่อตั้งมานานกว่า 50 ปีแล้ว ทุนจดทะเบียนก่อตั้ง 200 ล้านบาท เป็นหนึ่งในโรงงานแปรรูปมันสำปะหลัง ที่มีกำลังการผลิตมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตมากถึง 1,500 เมตริกตันต่อวัน มีสัดส่วนการส่งออกกว่า 90 %

Message us