ปิดวัดพระธาตุพนมฯ 1 เดือนจะเป็นทางเลือกสุดท้ายหวั่นกระทบศก.ท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดระเบียบบรรดาพ่อค้าแม่ค้า หน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ยังคงไม่จบง่าย หลังจาก ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช ประธานมูลนิธิกองทัพธรรม ไวยาวัจกรวัดพระธาตุพนมฯ ประธานประสานงานดูแลบริหารทั้งภายนอกภายในวัด ได้ร่วมกับ คณะกรรมการวัด รวมถึงเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทำการจัดระเบียบ ออกคำสั่งให้ บรรดาพ่อค้า แม่ค้า ขายดอกไม้เร่ รวมถึงขายลอตเตอรี่ แผงลอย ออกจากพื้นที่โซนนิ่ง จัดระเบียบ บริเวณถนนหน้าวัดเพื่อให้เป็นไปตามมติของกรรมการวัด เตรียมพร้อมเสนอวัดพระธาตุพนมฯ ขึ้นทะเบียนมรดกโลก จนเกิดข้อพิพาทกันหลายครั้ง และมีการออกกฎเหล็ก เตรียมปิดวัดพระธาตุพนมฯ เพื่อจัดระเบียบมาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่สุดท้ายปัญหายังไม่จบ ล่าสุดมีการเตรียมสั่งปิดวัด ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2566

ขณะเดียวกัน ทางด้าน นายวันชัย จันทร์พร ผวจ.นครพนม ได้ลงพื้นที่ ประชุมหารือ ร่วมกับ พระเทพวรมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมฯ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อหารือแก้ไขปัญหา พร้อมเจรจากับทาง บรรดา พ่อค้าแม่ค้าเพื่อหาทางออก จนได้ข้อสรุปมีการขยายเวลาออกไป 7 วัน เพื่อจัดสรรพื้นที่ให้บรรดา พ่อค้า แม่ค้า ไปขายของ และออกจากพื้นที่โซนนิ่งจัดระเบียบ บริเวณถนนตัวที หน้าวัด ทั้งนี้ ทางบรรดา พ่อค้า แม่ค้า ยินดี ให้ความร่วมมือ แต่มีปัญหา คือ ทางวัดยังไม่มีพื้นที่ชัดเจนรองรับพ่อค้า แม่ค้า จึงต้อง วางของขายในพื้นที่จัดสรรให้ชั่วคราว เพราะต้องหาเงินเลี้ยงชีพวันต่อวัน ส่วนคำสั่งปิดวัดพระธาตุพนมฯทางกรรมการ จะใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย หากไม่สามารถแก้ไข จัดระเบียบได้ เพราะจะเกิดปัญหากระทบเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว ในพื้นที่

จากการสอบถามบรรดาพ่อค้า แม่ค้า ขายของหน้าวัดพระธาตุพนมฯยืนยันว่า  ไม่มีเจตนาฝ่าฝืนคำสั่ง หรือแหกกฎกติกาของวัด ยินยอมที่จะออกจากพื้นที่โซนนิ่งห้ามขายของ แต่ทางวัดรับปากว่า จะจัดพื้นที่ขายของให้ แต่ยังไม่มีความชัดเจน และพื้นที่วางขายของมีไม่เพียงพอ ทำให้ พ่อค้า แม่ค้า ต้องมีการวางขายของ ในพื้นที่ชั่วคราว ถนนตัวที ซึ่งเป็นพื้นที่จัดระเบียบ เนื่องจากหากออกไปวางขายจุดอื่นไม่สามารถขายของได้ กระทบความเป็นอยู่ สิ่งที่พ่อค้า แม่ค้า ต้องการ คือมาตรฐานการจัดระเบียบ ความชัดเจนในพื้นที่วางขายของให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่มีความเหลื่อมล้ำกัน ทุกคนจะต้องไปอยู่ในพื้นที่เดียวกัน รวมถึงจัดพื้นที่จอดรถให้เป็นระเบียบ เพราะมีผลต่อการค้าขาย ประชาชน นักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาจอดรถ จะได้จับจ่ายซื้อของ วอนเห็นใจพ่อค้า แม่ค้า ที่ยึดอาชีพมาหลาย 10 ปี การจัดระเบียบ จะต้องใช้เวลาไม่อยากให้เอากฎหมายมาข่มขู่ ออกจากพื้นที่ แต่สุดท้ายไม่มีที่รองรับ

ข่าว/ภาพ : พัฒนพงษ์  ศรีเพียชัย (แมน) ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครพนม

Message us