“ประเสริฐ”โว 1 ปีไล่ปิดเพจ/URLs ผิดกม.สกัดต้นตอ”โจรออนไลน์”ได้กว่า 150,000 รายการ

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2567 กระทรวงดีอี ได้ดำเนินมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยเฉพาะการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ และเว็บไซต์ URLs ผิดกฎหมายทุกรูปแบบ เพื่อเป็นการตัดวงจรช่องทางการก่ออาชญากรรมที่สำคัญของขบวนการมิจฉาชีพ พร้อมทั้งกำชับให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตรวจสอบ เฝ้าระวัง และบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับกระบวนการปิดกั้นให้มีความรวดเร็ว รัดกุม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยออนไลน์

ทั้งนี้ จากสถิติการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ และ URLs ผิดกฎหมายทุกรูปแบบ ของกระทรวงดีอี ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2567 พบว่า มีการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ และ URLs ผิดกฎหมายทุกประเภทแล้ว จำนวน 150,425 รายการ เพิ่มขึ้น 8.51 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้านี้ (1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2566) ที่มีจำนวน 17,670 รายการ

สำหรับประเภทของโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ที่มีการปิดกั้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2567 มีดังนี้ พนันออนไลน์ จำนวน 62,213 รายการ เพิ่มขึ้น 30.22 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกัน (1 ตุลาคม 65 – 30 กันยายน 66) ที่มีจำนวน 2,059 รายการ , กรณีบิดเบือน/หลอกลวงออนไลน์ จำนวน 51,088 รายการ เพิ่มขึ้น 4.89 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้านี้ (1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2566) ที่มีจำนวน 10,442 รายการ และกรณีอื่นๆ จำนวน 37,124 รายการ เพิ่มขึ้น 7.18 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้านี้ (1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2566) ที่มีจำนวน 5,169 รายการ

“ในช่วง 12 เดือน หรือ 1 ปี ที่ผ่านมา กระทรวงดีอีได้ดำเนินการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ผิดกฎหมายไปแล้วกว่า 150,000 รายการ โดยสถิติตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกเดือนนั้น เนื่องจากการปรับกระบวนการทำงานให้มีความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีการตรวจสอบ เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา พร้อมทั้งการบูรณาการข้อมูลร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการแจ้งเบาะแส ข้อมูลข่าวปลอม เว็บไซต์ผิดกฎหมายผ่านทางสายด่วน 1111” นายประเสริฐ กล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอี มีความห่วงใยประชาชน ขออย่าหลงเชื่อ ข่าวปลอม ข้อมูลบิดเบือน หรือกลโกงของมิจฉาชีพที่หลอกให้เข้าไปลงทุน หรือกดลิงก์แพลตฟอร์มต้องสงสัยภายในโซเชียลมีเดีย เพจ และ URLs ผิดกฎหมาย เพราะอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ทำให้สูญเสียข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งสูญเสียทรัพย์สินได้ หรือหากมีการเชื่อ และแชร์ข้อมูลที่อยู่ใน URLs ผิดกฎหมายต่อๆกัน อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างได้

Message us