บึงกาฬจัดใหญ่ประเพณีแห่น้ำจั้นทิพย์-ขอขมาคารวะสรงน้ำ”หลวงพ่อพระใหญ่”ปิดท้ายสงกรานต์

เมื่อวันที่ 19 เม.ย. นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ พร้อมด้วย นายนคร ศิริปริญญานันท์ รองผวจ.บึงกาฬ, นายสมหวัง อารีย์เอื้อ รองผวจ.บึงกาฬ, นางแว่นฟ้า ทองศรี นายกอบจ.บึงกาฬ, นายนิพนธ์ คนขยัน สส.บึงกาฬ เขต 3, นายสยาม เพ็งทอง สส.บึงกาฬ เขต 1, หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน ได้ร่วมกันหาบน้ำจั้นศักดิ์สิทธิ์ และขบวนแห่ทางบกและทางน้ำ เพื่อนำไปประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และสรงน้ำองค์หลวงพ่อพระใหญ่ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดบึงกาฬ ณ วัดโพธาราม (หรือ วัดท่าไคร้) ถือเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวบ้านในพื้นที่ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาทุกปีในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์

นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผวจ.บึงกาฬ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดบึงกาฬทุกหมู่เหล่า ทำพิธีบวงสรวงและแห่น้ำจั้นศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อของบรรพบุรุษ โดยนำเอาน้ำจั้นหรือน้ำจากบ่อซึมที่มีความสูงจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงในหน้าแล้ง และไหลลงสู่แม่น้ำโขงตลอดทั้งปีไม่มีเหือดแห้ง ซึ่งน้ำบ่อซึมนี้เมื่อครั้งในอดีตผ่านมาชาวบ้านได้ใช้เป็นแหล่งน้ำดื่มสำหรับคนในตำบลบึงกาฬ ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขงบ้านท่าไคร้ หมู่ที่ 5 ต.บึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ

ทั้งนี้ ทุกๆ ปีหลังจากวันสงกรานต์จะมีพิธีแห่น้ำจั้นศักดิ์สิทธิ์ทั้งในทางบกและทางน้ำ เมื่อแห่ไปถึงหน้าวัดท่าไคร้ หรือวัดโพธารามก็จะอัญเชิญน้ำจั้นศักดิ์สิทธิ์ไปสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ในอุโบสถ ปีนี้จังหวัดได้จัดขบวนแห่ฟ้อนรำอันสวยงาม มีชาวจังหวัดบึงกาฬจากหลายเชื้อชาติ หลายชนเผ่า จำนวนกว่า 200 คน ต่างพร้อมใจกันแต่งกายด้วยชุดฟ้อนรำตามขบวนแห่น้ำจั้นศักดิ์สิทธิ์ เพื่ออัญเชิญน้ำไปสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ ซึ่งถือเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดบึงกาฬ ณ วัดโพธาราม บ้านท่าไคร้ อ.เมืองบึงกาฬ ที่นับเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน ทั้งชาวไทยและชาวลาว เป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ตลอดสองฝั่งแม่น้ำโขงต่างให้ความเคารพศรัทธา มาเข้าร่วมพิธีกันอย่างเนืองแน่นลูกหลานที่ไปเรียนหนังสือหรือไปทำงานในต่างจังหวัดจะต้องกลับมาบ้านบึงกาฬ เพื่อมาเข้าร่วมพิธีนี้ทุกคนและถือปฏิบัติกันมาเป็นประเพณีทุกปี

ประวัติหลวงพ่อพระใหญ่ ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่เล่าขานต่อๆ กันว่าราว 200 กว่าปีก่อน ชาวบ้านอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากเมืองยศ หรือยโสธร มาปักหลักแผ้วถางบุกเบิกป่าทึบริมฝั่งแม่น้ำโขงแล้วพบหลวงพ่อพระใหญ่ ในสภาพมีเถาวัลย์ปกคลุมรกรุงรังก็พบว่า พระเกศของหลวงพ่อหักเพราะถูกช้างป่ากระชากเถาวัลย์ลงมาเพื่อหากินตามธรรมชาติของสัตว์ป่า และเห็นเป็นรูปร่างของสถานที่บำเพ็ญบุญ หรือสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนา อีกทั้งยังพบซากเครื่องปั้นดินเผา โอ่งโบราณ รวมทั้งเครื่องใช้อีกหลายอย่างองค์พระพุทธรูปนั้นตั้งแต่ได้พบมาถึงปัจจุบันจึงช่วยกันบูรณะเสริมพระเกศขึ้นใหม่ให้สมบูรณ์ และฟื้นฟูพื้นที่โดยรอบสร้างเป็นวัดขึ้น หลวงพ่อพระใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 คืบ 4 นิ้ว สูง 3 ศอก 1 คืบ ศิลปะสมัยล้านช้าง แสดงถึงสายสัมพันธ์ศิลปวัฒนธรรมสองฝั่งโขง

พุทธศาสนิกชนมักไปกราบไหว้บูชาตั้งจิตอธิษฐานขอพร ขอให้ทำสิ่งใดๆ ได้สำเร็จ เช่น การสอบเข้าเรียน การเข้าทำงานหรือแม้การขอมีบุตร เมื่อได้สมหวังตามที่ขอหรือบนบานเอาไว้ ก็จะมาแก้บนด้วยการจุดบั้งไฟเล็กจำนวน 9 ดอกเป็นการถวายบูชาหลวงพ่อพระใหญ่ ณ จุดที่เตรียมไว้ข้างอุโบสถด้านติดแม่น้ำโขง สำหรับพิธีกรรมสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ ผู้ชายสามารถเข้าไปสรงน้ำได้ภายในอุโบสถ ส่วนผู้หญิงเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับการเข้าไปในอุโบสถไม่ว่ากรณีใดๆ หรือเวลาไหน แต่การสรงน้ำพระครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ทำบันไดเทียบข้างอุโบสถไว้ให้ขึ้นไปสรงน้ำผ่านท่อหรือรางน้ำที่จัดเตรียมไว้ให้ หรือจะสรงน้ำที่องค์หลวงพ่อพระใหญ่องค์จำลอง ที่ประดิษฐานอยู่นอกอุโบสถก็ได้ ซึ่งในปีนี้การจัดงานได้ทำขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 20 เม.ย. 2568 โดยให้ถือปฏิบัติในวันเสาร์-อาทิตย์ หลังสงกรานต์เป็นประเพณีทุกปี และจัดให้มีงานมหรสพสมโภช 3 วัน 2 คืนเป็นงานปิดท้ายวันสงกรานต์ของจังหวัดบึงกาฬ

ข่าว/ภาพ : ณฐพรหม อิทธิพัทธ์พล ผู้สื่อข่าวจังหวัดบึงกาฬ

Message us