
เมื่อวันที่ 7 เมษายน เวลาประมาณ 22.00 น. ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับ พลตำรวจโทสำราญ นวลมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจตรี นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พลตำรวจตรี พิทักษ์ อุทัยธรรม รองผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พันตำรวจเอกเดโช โสสุวรรณากุล รองผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 3 แถลงข่าวการจับกุมตัวผู้ต้องหา
นายวุฒิไกร ศรีธวัช ณ อยุธยา ผู้อำนวยการส่วนสืบสวนสะกดรอยและการข่าว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์สืบสวน สะกดรอยและการข่าวและเจ้าหน้าที่ตำรวจตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้เป็นคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 136/2567 ได้ร่วมกันจับกุมตัว นางสาวฐิติพร (สงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นโบรคเกอร์ของ นายแพทย์บุญ ผู้ต้องหาในคดีนี้ ต้องหาว่าร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา ได้ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ หลังจากหลบหนีการจับกุมในคดีไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ กองกิจการอำนวยความยุติธรรม ได้รับโอนสำนวนการสอบสวนคดีอาญาจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2567 มีผู้กล่าวหาและผู้เสียหาย จำนวนกว่า 605 ราย ปรากฏมูลค่าความเสียหาย 16,100,602,806 บาทโดยกองกิจการอำนวยความยุติธรรม ได้ทำการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมอายัดทรัพย์และส่งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และได้ดำเนินคดีกับนายแพทย์บุญกับพวกรวม 16 ราย จับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว จำนวน 13 ราย มีผู้ต้องหา จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายบุญ (สงวนนามสกุล) นางสาวกชพร (สงวนนามสกุล) และนางสาวฐิติพร (สงวนนามสกุล) หลบหนีไปยังต่างประเทศ จึงได้แจ้งไปยังองค์การตำรวจสากล (INTERPOL) ออกประกาศตำรวจสากลสีแดง (Red Notice)

ต่อมา ร้อยตำรวจเอกวิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ร้อยตำรวจเอก ทินวุฒิ สีละพัฒน์ ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ และนายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการกองกิจการอำนวยความยุติธรรม ได้รับการประสานงานจาก พลตำรวจโท สำราญ นวลมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่าจากการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการเกี่ยวกับผู้ต้องหาตามหมายจับที่หลบหนีออกนอกราชอาณาจักรในคดีพิเศษนี้ รวม 3 รายดังกล่าว โดยแจ้งไปยังองค์การตำรวจสากล (INTERPOL) ออกประกาศตำรวจสากลสีแดง (Red Notice)
ได้รับแจ้งจากทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าได้ควบคุมตัว นางสาวฐิติพรฯ ได้ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน จึงรายงานให้ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทราบ และได้สั่งการให้ กองกิจการอำนวยความยุติธรรม ร่วมกับกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ประสานงานร่วมบูรณาการกับกองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการประสานกับทางการสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อขอความร่วมมือให้พิจารณาผลักดันผู้ต้องหารายนี้กลับมายังประเทศไทยเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งในวันนี้ (7 เม.ย.68) ทางการสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เนรเทศผู้ต้องหา โดยผู้ต้องหาเดินทางจากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเครื่องบินมาถึงท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ มีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่ตำรวจตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้เป็นคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 136/2567 ร่วมกันรับตัวผู้ต้องหา เพื่อส่งมอบให้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการตามกฎหมาย
อนึ่ง นางสาวฐิติพรฯ เป็นผู้ต้องหารายที่ 14 ที่ถูกจับกุมตัวในคดีพิเศษที่ 136/2567 มีพฤติการณ์เชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมลงทุนโดยการนำเงินมาให้นายแพทย์บุญฯ กู้ยืม ต่อมาไม่จ่ายผลตอบแทนและไม่คืนเงินต้นจึงเกิดความเสียหายในวงกว้าง กรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีอยู่เพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

พฤติการณ์ของนางสาวฐิติพร ได้เชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมลงทุน ด้วยการนำเงินมาให้หมอบุญ กู้ยืมและอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูง แต่ต่อมากลับไม่จ่ายผลตอบแทน และไม่คืนเงินต้น จึงเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง มีประชาชนตกเป็นผู้เสียหายกว่า 605 คน มูลค่าความเสียหายมากกว่า 16,000 ล้านบาท
คดีนี้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ เมื่อปลายปี 2567 ก่อนจะสรุปสำนวน จำนวน 342 แฟ้ม รวมเอกสารกว่า 130,000 แผ่น ส่งอัยการพิจารณาสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ในความผิดฐาน “ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามพระราชกำหนด การกู้ยืมเงิน ที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ฯ และร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา” / ซึ่งคดีนี้ดีเอสไอจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว 13 คน อยู่ระหว่างหลบหนี 3 คน ประกอบด้วยหมอบุญ / นางสาวกชพร / และนางสาวฐิติพร ถือเป็นผู้ต้องหาคนที่ 14 ที่สามารถจับกุมตัวได้
สำหรับ นพ.บุญ เป็นผู้ต้องหาในคดี “คดีหลอกลงทุน 5 โครงการก่อสร้างโรงพยาบาล ความเสียหายร่วม 7,500 ล้านบาท เกิดเหตุช่วงเดือนธันวาคม 2566 ถึงพฤศจิกายน 2567 โดย 5 โครงการ ได้แก่
- โครงการสร้างศูนย์มะเร็ง ย่านปิ่นเกล้า พื้นที่ 7 ไร่ งบลงทุน 4,000 ล้านบาท
- โครงการเวสเนสเซ็นเตอร์ ย่านพระราม 3 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ 5 ไร่เศษ งบลงทุนประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท
- โครงการสร้างโรงพยาบาลใน สปป.ลาว จำนวน 3 แห่ง (ในเวียงจันทร์ 2 แห่ง และจำปาสัก 1 แห่ง)
- โครงการเข้าร่วมลงทุนกับโรงพยาบาลในเวียดนาม โดยใช้งบลงทุนประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท
- โครงการสร้างเมดิคอล อินเทลลิเจน (Medical Intelligen) ซึ่งทำหน้าที่ด้านไอที ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท

