จับบุหรี่ไฟฟ้าได้อื้อขายเกลื่อนย่านรามคำแหง-ลาดพร้าว

เมื่อวันที่ 19 เมษายน นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รอง ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อควบคุมยาสูบ (สจย.) นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมแถลงข่าวการดำเนินการจับกุมร้านค้าที่ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณสถานศึกษาและพื้นที่ชุมชน จากการลงพื้นที่เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนและข้อกังวลจากผู้ปกครองนักเรียน ว่ามีการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าใกล้เคียงบริเวณสถานศึกษาและในพื้นที่ชุมชนเป็นจำนวนมาก โดยช่วงค่ำของคืนวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา นางพวงเพ็ชร สั่งการให้ทางศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ สคบ. นำโดย นายเลิศศักดิ์ รักธรรม รองหัวหน้าศูนย์ฯ เร่งตรวจสอบ โดยได้สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.วังทองหลาง และ สน.ลาดพร้าว ลงพื้นที่เป้าหมายย่านรามคำแหงและย่านลาดพร้าว

จากการลงพื้นที่สามารถจับกุมร้านค้าที่ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าได้ทั้งหมด 5 ร้านค้า ประกอบด้วย ร้านใน ซ.รามคำแหง 53 จำนวน 1 ร้าน, ร้านใน ซ.รามคำแหง 65 (ซอยมหาดไทย) จำนวน 2 ร้าน, ร้านใน ซ.ลาดพร้าว 101 จำนวน 1 ร้าน และ ร้านใน ซ.ลาดพร้าว 107 จำนวน 1 ร้าน สามารถยึดของกลางเป็นบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าได้ 22 กระสอบ หรือกว่า 10,000 ชิ้น คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท

นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า รัฐบาลเร่งปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง และจะมีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการติดตามจับกุมการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่ใกล้เคียงสถานศึกษาและเขตชุมชน ในส่วนของ สคบ. ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ สคบ. และมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสมาคมและมูลนิธิต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ตอนนี้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัยคุกคามสำคัญที่ทำร้ายเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ จึงขอความร่วมมือทุกฝ่าย หากพบเห็นการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทั้งทาง Online และแบบมีหน้าร้าน หรือในสถานศึกษา สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วย สคบ. 1166 แอปพลิเคชัน OCPB Connect ไลน์ @TraffyFondue ของ กทม. และสถานีตำรวจทุกแห่ง

อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ามีความผดตามกฎหมาย ดังนี้ 1. ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในประเทศ 2. คำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” และ 3. พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 เพราะน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินเป็นส่วนประกอบ หากสูบในพื้นที่ห้ามสูบตามกฎหมาย ตามมาตรา 67 จะมีฐานความผิดการห้ามสูบในที่สาธารณะ

Message us