
เมื่อวันที่ 26 เมษายน ดร.สุภชา ศิริวงศ์ยิ่งเจริญ ผู้จัดการโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ สายบ้านไผ่ -มุกดาหาร – นครพนม ระยะทาง 347 กิโลเมตร งบประมาณกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่นครพนมสัญญาที่ 2 ได้ดำเนินการเร่งรัดงานก่อสร้างทันที หลังจากที่มีการปรับรูปแบบให้ตอบโจทย์ความต้องการและการใช้งานของประชาชน และสอดคล้องกับระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตของภูมิภาค

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างได้จัดชุดก่อสร้างทางรถไฟในทุกพื้นที่ที่ได้รับมอบจากการเวนคืน รวมถึงจัดชุดก่อสร้าง งานเจาะเสาเข็ม จำนวน 6 ชุดทำงานทาง 20 ชุด และชุดโครงสร้าง 17 ชุด ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 4 จังหวัดได้แก่ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหารและนครพนม โดยได้เร่งรัดกระบวนการเวนคืนจ่ายค่าทดแทนในส่วนที่เหลือที่ยังเข้าพื้นที่ไม่ได้ เพื่อให้งานก่อสร้างรถไฟทางคู่ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเกิดประโยชน์สูงสุด ในการที่จะใช้บริการของการรถไฟในอนาคตอันใกล้

สำหรับ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่ -มุกดาหาร – นครพนม ระยะทาง 347 กิโลเมตร งบประมาณกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างปี 67 คาดว่าใช้เวลา 4 ปี จึงจะแล้วเสร็จในปี 2570 ขณะเดียวกัน กรมทางหลวงก็ได้ตัดถนนเส้นใหม่ ระยะทาง 14 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโยงระบบราง และสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 มุกดาหาร – สะหวันนะเขต เพื่อเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย โดยจุดแรกที่สถานีบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ภาคอีสาน (สายใหม่ ) อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร -มุกดาหาร – นครพนม ระยะทางกว่า 347 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟ 30 สถานี ( 18 สถานี 12 ป้ายหยุดรถ ) และ 1 ชุมทางรถไฟ ส่วนทางวิ่งมีทางระดับดินและยกระดับผ่านถนนข้ามแม่น้ำ มีลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง
ข่าว/ภาพ : อนุศักดิ์ – เสาวภา แสนวิเศษ ผู้สื่อข่าวจังหวัดมุกดาหาร
