กทม.ผนึกหลายภาคส่วนระดมสมองดึงอัตลักษณ์บางโพสู่ย่านสร้างสรรค์

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนประชานฤมิตร “BANGPHO LIVING LAB” ครั้งที่ 2 “วิสัยทัศน์ถนนสายไม้บางโพสู่ย่านสร้างสรรค์ของกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน” โดยมี นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตบางซื่อ คณาจารย์และนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการในชุมชนประชานฤมิตร และบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมณ ศาลเจ้าแม่ทับทิม ซอยประชานฤมิตร เขตบางซื่อ

นายศานนท์ กล่าวว่า บางโพเป็นที่ที่ทำให้ตื่นเต้นมาก เพราะเวลาพูดถึงย่านสร้างสรรค์ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องท่องเที่ยวแล้วไปจบที่เมืองเก่า หรือทางฝั่งธนที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน ซึ่งจริง ๆ แล้วอัตลักษณ์ที่เป็นเชิงเศรษฐกิจมีอีกหลายที่ โดยเฉพาะที่บางโพที่มีถนนสายไม้ ซึ่งตรงนี้มี 2 มิติที่อยากจะกล่าวถึง

มิติที่ 1 คือ ย่านสร้างสรรค์ ในนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ มีเป้าหมาย 50 ย่านที่อยากทำเรื่องอัตลักษณ์ พยายามคิดว่ามีย่านอะไรบ้าง และมีประมาณ 20 ย่านที่จะเริ่มทำภายในปีนี้ โดยในช่วงงาน Bangkok Design Week ที่กำลังจะถึงนี้จะทำ 9 ย่าน ใน 9 ย่าน ก็ยังรวมหลาย ๆ ย่านเข้าไว้อีกที มีถนนหนึ่งคือ สุขุมวิท 26 ที่กล่าวว่าบนถนนเส้นเดียวมีดีไซเนอร์ถึงพันคน เป็นรูปแบบหนึ่งของอัตลักษณ์ย่านที่มีนักออกแบบทั้งเส้น อย่างตรงจุดนี้ก็เป็นอีกแบบที่เรียกว่าถนนสายไม้ ที่มีผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการทำไม้ และน่าตื่นเต้นว่าจะดึงอัตลักษณ์ออกมาอย่างไร

มิติที่ 2 ที่พื้นที่ถนนสายไม้ตรงนี้สะท้อนออกมาให้เห็นมาก ๆ คือ เรื่อง Learning City ที่มีบริบทของการรวมคน ผู้ประกอบการ นักศึกษา หรือมหาวิทยาลัยมาช่วยกัน เราจะเห็นว่าการทำย่านบางครั้งไม่ได้มีชุมชนเพียงลำพัง แต่หลาย ๆ ครั้งเป็นสถาบันการศึกษาที่เข้าไปนำร่องก่อนด้วย เช่น ย่านกุฎีจีน ย่านพระนคร ย่านฝั่งธน ย่านเหล่านี้จะมีนักศึกษา มีสถาบันเข้าไปช่วยเหลือกัน การทำย่านสร้างสรรค์ประกอบกับการเป็น Learning City กทม.ก็อยากร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหลาย ๆ ที่ Learning City ไม่ได้พูดถึงนักศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่พูดถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะโลกของเศรษฐกิจการค้าเปลี่ยนไป การที่มีงานอย่าง BANGPHO LIVING LAB ในวันนี้ ก็ทำให้ทุกคน ทุกหน่วยงานตื่นตัว และชุมชนกับกทม. ก็คงจะได้ร่วมงานกันต่อไป

สืบเนื่องจากชุมชนประชานฤมิตร(ถนนสายไม้บางโพ เขตบางซื่อ) ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแผนงานจัดทำแผนพัฒนาชุมชนประชานฤมิตร ปี พ.ศ. 2566-2586 จัดวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนชุมชนไปสู่ย่านสร้างสรรค์ของกรุงเทพอย่างยั่งยืน โดยการการประชุม “BANGPHO LIVING LAB” ครั้งที่ 2 วันนี้ ชุมชนประชานฤมิตร ร่วมกับ Social Innovation Hub จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันนำเสนอผลการทำงานด้านต่าง ๆ อาทิ กระบวนการสร้างวิสัยทัศน์และเป้าหมายในการอนุรักษ์พัฒนาชุมชน BANGPHO LIVING LAB โดย ผศ.ดร. ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมวิจัย การนำเสนอวิสัยทัศน์ของชุมชน “ถนนสายไม้บางโพ” 2576 และยุทธศาสตร์ 5 ด้าน นายภูริสิทธิ์ สิริวโรธากุล ประธานชุมชนประชานฤมิตรพร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารชุมชน รวมถึงการนำเสนอแผนที่ท่องเที่ยวเขตบางซื่อ โดยนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นแผนที่ที่รวบรวมและนำเสนออัตลักษณ์ย่านมรดกและพื้นที่สำคัญในเขตบางซื่อ

Message us