TSPCA ถอดบทเรียนลิงลพบุรี และไฟไหม้ตลาดขายสัตว์จตุจักร

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่โรงแรมแคนทารี เฮ้าส์ รามคำแหง มีการจัดการประชุมบูรณาการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนและสัตว์ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา ลิงลพบุรีและกรณีเหตุเพลิงไหม้ ตลาดขายสัตว์เลี้ยงศรีสมรัตน์ จตุจักร กรุงเทพมหานคร จัดโดยสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) และองค์กรเครือข่าย โดยได้ดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียน 5 ประเด็น คือ สถานการณ์ สภาพปัญหาและผลกระทบต่อปัญหาความขัดแย้งของคนและสัตว์ หน่วยงาน นโยบาย กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรการ แนวทาง แผนการดำเนินการ เกี่ยวกับการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพลิงลพบุรี การบูรณาการความร่วมมือและการสร้างปัจจัยแห่งความสำเร็จรวมทั้งการติดตามประเมินผล ข้อเสนอแนะ แนวทางหรือรูปแบบ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนและสัตว์ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายภาคส่วน

รศ.ดร.วรากรณ์  สามโกเศศ อุปนายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) กล่าวต้อนรับและชื่นชมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขสถานการณ์ลิงลพบุรีที่ผ่านมา ขอขอบคุณนายธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์  นายกTSPCA ที่ริเริ่มดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์อย่างต่อเนื่อง กว่า 30 ปี และเป็นผู้ผลักดันให้มีพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 อีกทั้งยังได้เป็นผู้สนับสนุน ห้องประชุมและอาหารแก่ผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย สำหรับการจัดงานครั้งนี้ TSPCA เป็นผู้ประสานการจัดประชุมเพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีโอกาสแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในประเด็นต่างๆ 5 ประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เครือข่ายองค์กรภาคเอกชนเป็นผู้จัด เพราะห่วงใยในสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งของคนและสัตว์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องเฉพาะลิงลพบุรีเท่านั้น เพราะปัญหาเรื่องลิง ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ อาจจะมีมากว่า 10 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ สำหรับเรื่องลิงลพบุรีในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นมีการสื่อสารในแง่มุมต่างๆ หลากหลายช่องทางไปทั่วโลก ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดีก็จะสร้างภาพลักษณ์ได้รับการชื่นชมจากประชาชนในลพบุรี และทั่วโลกเช่นกัน 

นายเผด็จ ลายทอง ผู้แทนอธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวเปิดประชุม โดยได้ขอบคุณทุกภาคส่วนที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาลิงลพบุรีโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาลเมืองลพบุรี ที่ให้การสนับสนุนดำเนินงาน สำหรับกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการวางแผนตามขั้นตอนการจัดสวัสดิภาพสัตว์ทุกขั้นตอนของการแก้ปัญหา ตั้งแต่ การจับ การรักษาพยาบาลเบื้องต้นและการดูแลลิงในกรงและอื่นๆ ต้องขอบคุณประชาชนชาวลพบุรีที่ให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหานี้เป็นอย่างดี 

ด้าน รศ.น.สพ.ปานเทพ  รัตนากร อุปนายก TSPCA  กล่าวว่า การวางแผนการดำเนินการรองรับปัญหาเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะการจัดสวัสดิภาพลิง ทั้ง 5 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพความเหมาะสม ขนาดของกรงเลี้ยง การได้แสดงออกตามพฤติกรรมตามธรรมชาติ การดูแลด้านอาหารและน้ำดื่ม เป็นเรื่องสำคัญเพราะอาจจะส่งผลในระยะยาวของลิงได้  เพราะถ้าไม่รองรับปัญหาให้ดี การแก้ไขปัญหาหนึ่งก็อาจจะกระทบปัญหาอื่นตามมา

นายเจษฎา อนุจารี กรรมการและที่ปรึกษากฎหมาย TSPCA กล่าวว่า ปัจจุบันนโยบายและกฎหมายต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ค่อนข้างชัดเจน และมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเป็นบรรดทัดฐานในการดูแลและจัดสวัสดิภาพสัตว์จรจัด ท้องถิ่นต้องมีบทบาทรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น

ศ.สพ.ญ.ดร.อัจฉริยา ไศละสูต  ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการองค์การสมาพันธ์สมาคมสัตวแพทย์แห่งเอเซีย  เห็นว่าเรื่องของลิงปัจจุบันเป็นวาระแห่งชาติ ลิงเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติและมีความใกล้ชิดมนุษย์ เกิดกรณีลิงมารุกรานชาวบ้านทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนและลิงในจังหวัดที่มีลิงอยู่จำนวนมาก การป้องกันตัวจากลิงแย่งอาหาร ทำให้เกิดความเสียหายทั้งสุขภาพกายและใจรวมทั้งทรัพย์สินตามมาอย่างต่อเนื่อง  ความเสี่ยงโรคในลิงสู่คนจากสัมผัสหรือถูกทำร้าย มีการกระทำที่รุนแรงเกิดขึ้นมีผลกระทบต่อสวัสดิภาพสัตว์ เกิดประเด็นการทารุณสัตว์หรือไม่  คนรุกรานลิงหรือลิงรุกรานคน   ลิงทุกตัวเป็นสัตว์คุ้มครองอยู่ในพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งดูแลตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ที่เป็นสากลอยู่แล้ว   การจัดการปัญหาอย่างองค์รวมทำอย่างไรให้คน ลิง รวมถึงสิ่งแวดล้อมในบริบทสุขภาพหนึ่งเดียวให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขอย่างยั่งยืน เป็นความท้าทายต้องระดมความคิดจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  

สัตวแพทย์หญิง จุฑามาศ สุพะนาม สัตวแพทย์แห่งเมืองลพบุรี กล่าวว่า ในปี 2553 ตามมติของ ผวจ.ลพบุรี นายจารุพงษ์ พลเดช ได้มอบหมายให้ทำหมันลิงไปแล้วจำนวน 250 ตัว และเป็นลิงเพศผู้ทั้งหมด ซึ่งลิงบางตัวมีปัญหาสุขภาพ เช่น เป็นไส้เลื่อนถุงอัณฑะ (Scrotal hernia) เนื่องจากการใช้ชีวิตบนตึกและเวลาลงจากตึกต้องสไลด์ตัวเองลงมาตามเหลี่ยมของเสาตึกทำให้เกิดไส้เลื่อนถุงอัณฑะในลิงเพศผู้ได้ง่ายจึงได้มีการผ่าตัดแก้ไขให้เป็นจำนวนเกือบ 100 ตัวมีการจัดทำทะเบียนประวัติ ติดเบอร์หูตั้งแต่เลข  01-250 ต่อมากรมอุทยานฯได้เข้ามาสำรวจและทำหมันลิงมากกว่า 1,700 ตัวและตอนนี้ได้ย้ายลิงตึกจากฝูงต่างๆไปไว้ในสถานที่พักลิงชั่วคราว ที่โพธิ์เก้าต้น เพื่อรอจัดสร้างสถานที่ในป่าธรรมชาติเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากลิงเมืองให้สามารถใช้ชีวิตในป่าได้ รู้จักการหาอาหารและสามารถดำรงชีพอยู่ในธรรมชาติได้ จึงเป็นความหวังในการแก้ไขปัญหาเรื่องลิงลพบุรี สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากลิงในเขตเมืองเก่า ก็จะได้กลับมา สร้างเศรษฐกิจให้ดีได้ดังเดิม ส่วนพื้นที่ป่าธรรมชาติที่ลิงสามารถดำรงชีพได้ หลังจากนี้ควรจะต้องระดมกำลังกับภาคประชาชนในการสร้างแหล่งอาหารและแหล่งน้ำตามธรรมชาติให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนแล้วค่อยนำลิงกลุ่มนี้เข้าสู่วิถีชีวิตตามธรรมชาติการสร้างแหล่งน้ำและอาหารเพื่อลิงในเขตเมืองเก่า ที่ย้ายไป

 นางสาวบุญชู  เป้าบ้านเช่า ประชาชนชาวลพบุรี กล่าวว่า ขอชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในปฏิบัติการจับลิงในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเป็นอย่างดี โดยความเห็นส่วนตัวแล้วคิดว่าตำนานเมืองลพบุรีมีลิงเป็นสัตว์สัญลักษณ์มาช้านาน ดังนั้นในพื้นที่ดังกล่าวก็ควรมีลิงในปริมาณที่เหมาะสมไม่สร้างปัญหาแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว และควรมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อมิให้เกิดปัญหาเหมือนอดีตที่ผ่านมา หากสามารถทำได้แล้วก็จะแสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของคนและสัตว์ที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน อีกทั้งลิงก็เป็นเสน่ห์ของเมืองลพบุรี ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาก็ชื่นชอบที่จะถ่ายรูปด้วยความสนุกสนาน สถานที่อีกแห่งหนึ่งที่จังหวัดน่าจะพิจารณาให้เป็นที่อยู่ของลิง คือ พื้นที่สระมโนรา ซึ่งกรมศิลปากรได้ส่งมอบคืนให้แก่จังหวัดลพบุรี โดยควรนำมาออกแบบเป็นกรงเหล็กขนาดใหญ่ ปลูกต้นไม้ภายในให้ร่มรื่น ทำเป็นสวนสาธารณะที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งคนและลิง สามารถเป็นจุดแวะชมของนักท่องเที่ยวได้

จากนั้น มีการประชุมบูรณาการแก้ไขปัญหากรณีเพลิงไหม้ ตลาดศรีสมรัตน์ตลาดขายสัตว์ภายในพื้นที่ของ ตลาดนัดจตุจักร กรุงเทพมหานคร ได้มีการเชิญผู้แทนจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อรับมอบจดหมาย และมีการแถลงขอแสดงความเสียใจต่อสัตว์กว่า 5,000 ชีวิตที่ต้องมาสูญเสียถูกไฟคลอกตายในครั้งนี้ และขอแสดงความห่วงใยกับผู้ประกอบการทุกรายที่ได้รับผลกระทบ และเพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันในการต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์และการพัฒนาการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้ดียิ่งขึ้น  โดยที่ประชุมได้ร่วมเสนอทางออกร่วมกัน  เช่น

1. จัดให้มีเครือข่ายเฝ้าระวังติดตาม ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์เพลิงไหม้ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยผลการตรวจสอบต่อสาธารณะโดยด่วน และติดตามการดำเนินการพัฒนาปรับปรุง อาคารสถานที่ขายสัตว์เลี้ยง ให้มีมาตรฐาน รวมทั้งมีมาตรการแผนระงับเหตุป้องกันอัคคีภัยและด้านความปลอดภัยอื่นๆ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้งหมด

2. สนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการด้านการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ในการจัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติมาตรฐาน ตามข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานคร เรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ  พ.ศ 2561 และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ในการขออนุญาตเปิดร้านประกอบกิจการค้าสัตว์ หรือ กิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยง

3. สนับสนุนการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ด้านนิติวิทยาศาสตร์ กรณีสัตว์ประสบภัยพิบัติ อัคคีภัย แก่หน่วยงาน เจ้าหน้าที่ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เวลาเข้าไประงับเหตุ

4. จัดอบรมให้ความรู้ การช่วยเหลือฉุกเฉิน กรณีสัตว์ประสบภัยพิบัติ อัคคีภัย

5. ร่วมเป็นเครือข่าย สนับสนุนเฝ้าระวัง ติดตามบังคับใช้ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัด      สวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557

6. ขอให้กรมปศุสัตว์ มีการศึกษาข้อดีและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการขอใบอนุญาตของสถานเพาะพันธุ์สุนัข แมวและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เพื่อลดปัญหาการทารุณกรรมสัตว์ และที่สำคัญลดปัญหาการทิ้งสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควรที่ต้นทางได้ระดับหนึ่งอีกด้วย 

สำหรับ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) และองค์กรเครือข่าย อาสาสมัครภาคประชาชน ฯ จะเฝ้าระวัง ติดตามและร่วมสนับสนุน การแก้ไขปัญหาการจัดสวัสดิภาพสัตว์ในสถานที่จำหน่ายสัตว์เลี้ยง ของกรุงเทพมหานคร และทั่วประเทศไทยเพื่อพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์สู่สวัสดิภาพคนที่ดี อย่างยั่งยืนต่อไป

ดาวน์โหลดภาพเพิ่มเติม: https://drive.google.com/drive/folders/1xs3yJNEmrSE5x3huYh32WNAUjB9kCaI-?usp=sharing

Message us