7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ยอดตายพุ่ง 128 ศพบาดเจ็บ 1,151 ราย

เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แถลงสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เกิดอุบัติเหตุ 424 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 416 คน ผู้เสียชีวิต 51 ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (29 – 31 ธ.ค. 66) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,150 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม 1,151 ราย ผู้เสียชีวิต รวม 128 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 22 จังหวัด ซึ่ง ศปถ. ได้กำชับดูแลกวดขันขับรถเร็ว – ดื่มแล้วขับ เน้นย้ำการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและดำเนินมาตรการดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนอย่างต่อเนื่อง

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน(ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่ 3 ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 424 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 416 คน ผู้เสียชีวิต 51 ราย

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 37.26 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 32.78 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 86.91 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 80.19 ถนนใน อบต./หมู่บ้านร้อยละ 37.03 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36.56 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 00.01 – 01.00 น. ร้อยละ 8.02 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 20 – 29 ปี ร้อยละ 21.20 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,780 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,670 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (18 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (20 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครพนม และอุดรธานี (จังหวัดละ 4 ราย)

อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (29 – 31 ธ.ค. 66) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,150 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม 1,151 คน ผู้เสียชีวิต รวม 128 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ กาญจนบุรี (44 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (43 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (8 ราย) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 22 จังหวัด

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า ศปถ. ได้กำชับให้กวดขันพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็วและดื่มแล้วขับบนเส้นทางสายหลักและสายรองในช่วงเวลามีสถิติอุบัติเหตุสูง และเน้นย้ำให้ด่านชุมชนปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อป้องปรามผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ให้สวมหมวกนิรภัยและไม่ขับขี่ด้วยความคึกคะนองและเสี่ยงอันตราย รวมถึงเตรียมความพร้อมการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ขับขี่อำนวยความสะดวกด้านการจราจร เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุและรับส่งผู้ประสบเหตุได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ขอฝากประชาชนให้เฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ด้วยความไม่ประมาทและเพิ่มความระมัดระวังอุบัติภัยที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงดูแลสภาพร่างกายให้พร้อมขับขี่ และตรวจเช็คสภาพรถให้ปลอดภัยก่อนออกเดินทางกลับ เพื่อให้การเริ่มต้นปีใหม่ 2567 เป็นไปด้วยความสุขและความปลอดภัย

Message us