14 สว.ชงตั้งกมธ.ศึกษาหาแนวทางแก้ปัญหาภัยพิบัติจากวิกฤตน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. นพ.เปรมศักดิ์ เพียยะระ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยเพื่อนสว.รวม 14 คนได้เสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ จากวิกฤติอุทกภัยอย่างเร่งด่วนและเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาระยะยาว สืบเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมอย่างรุนแรงในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ เนื่องจาก มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ส่งผลทําให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก เกิดน้ำท่วมที่อยู่อาศัยและที่ดินทํากินของประชาชนในหลายจังหวัด เช่น เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา และคาดว่า โดยมวลนํ้าจะไหลลงมารวม ที่จังหวัดภาคกลาง เช่น นครสวรรค์ พิษณุโลก ประกอบกับสํานักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ยังได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์นํ้าตามคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศ ทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงนํ้าหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณ พื้นที่ต้นนํ้า

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังในหลายภูมิภาคทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ทําให้ประชาชนที่ได้รับทราบข่าวเกิดความกังวลใจเพิ่มขึ้น ว่า สถานการณ์นํ้าดังกล่าวจะรุนแรงเท่ากับปี 2554 หรือไม่

นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นซํ้าซากหลายครั้ง และสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมาตลอด ส่วนหนึ่งมาจาก การบริหารจัดการน้ําที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการบูรณาการในการป้องกันและแก้ไขน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ และการทํางานของทุกภาคส่วนยังไม่มีความต่อเนื่อง ให้ความสําคัญเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เวลาเกิดอุทกภัยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก ทําให้ภัยพิบัติจากธรรมชาติเกิดมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำท่วม นํ้าป่าไหลหลาก จึงสมควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีข้อมูลและใช้วิทยาการที่ทันสมัยในการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติเหล่านี้ในเชิงรุกให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน และเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดต่อประเทศชาติโดยรวม และทำให้การแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและยังยืน จึงขอให้ประธานวุฒิสภาได้เร่งบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระตามข้อบังคับการประชุมวฒิสภา พ.ศ.2562 ข้อ 38 เพื่อให้ที่ประชุมวุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ โดยมีกําหนดเวลาการปฏิบัติงาน 90 วัน

Message us