โพลชี้คนไทยตั้งใจทำบุญ ลด ละ เลิก อบายมุขในวันวิสาขบูชา

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชนและประชาชนที่มีต่อ “วันวิสาขบูชา ปี 2567” จากกลุ่มตัวอย่างเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วประเทศ จากผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน 16,034 คน โดยผลโพลชี้ว่าเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 88.27 ทราบว่าวันวิสาขบูชาปีนี้ ตรงกับวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 และคิดว่าวันวิสาขบูชา มีความสำคัญ คือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ร้อยละ 73.11 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ร้อยละ 63.96 และเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธสู่ปรินิพพาน ร้อยละ 61.89 ตามลำดับ อีกทั้งเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ทราบว่าหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ในวันวิสาขบูชา คือ อริยสัจ 4 ร้อยละ 55.00 และทราบว่าเป็นหลักธรรมอื่น อาทิ โอวาทปาฏิโมกข์ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นต้น ร้อยละ 45.00

ทั้งนี้ เมื่อถามเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ คิดว่าวิธีการใดจะจูงใจหรือเชิญชวนให้เด็ก เยาวชน และประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในวันวิสาขบูชามากขึ้น ผลโพลปรากฎว่า อยากให้พ่อแม่/ปู่ย่า ตายาย/ญาติพี่น้อง พาลูกหลานเข้าร่วมกิจกรรมวิสาขบูชา ร้อยละ 70.53 อยากให้ครู อาจารย์ ควรปลูกฝัง ถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนและเห็นความสำคัญ ร้อยละ 39.75 และอยากให้ผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมผ่านโซเชียลมีเดีย ร้อยละ 39.22 นอกจากนี้ผลโพลชี้ว่าเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ สนใจเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันวิสาขบูชาในปีนี้ ร้อยละ 65.19

อย่างไรก็ตาม แบ่งเป็นความตั้งใจทำบุญ ทำทาน ร้อยละ 61.36 ลด ละ เลิก อบายมุข ร้อยละ 55.23 และตักบาตรพระสงฆ์ ร้อยละ 53.68 และเมื่อถามเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ จะนำหลักคำสอนข้อใดมายึดถือปฏิบัติและนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน คือ สติ ความรู้สึกตัว ความระลึกได้ ความรับรู้ การเอาจิตไปรับรู้ ในสิ่งที่เกิดขึ้น หรือปรากฏขึ้น ในปัจจุบัน ร้อยละ 63.75 อันดับ 2 ศีล 5 ศีลพื้นฐานที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ชาวพุทธทุกคนยึดถือปฏิบัติเป็นหลักของชีวิต ร้อยละ 41.79 อันดับ 3 หลักการ 3 ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ร้อยละ 40.63

ขณะเดียวกันผลสำรวจครั้งนี้ เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ต้องการให้ วธ. จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา ได้แก่ กิจกรรมไหว้พระ ทำบุญ ตักบาตร ร้อยละ 63.34 กิจกรรมฟังเทศน์ ฟังธรรม ร้อยละ 34.12 และกิจกรรมเวียนเทียนรอบพระบรมสารีริกธาตุ/วัด/สถานที่ปฏิบัติธรรม ร้อยละ 32.72 เสนอแนะให้ภาครัฐมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกิจกรรม สถานที่จัดงาน ผ่านสื่อต่าง ๆ ที่หลากหลาย อาทิ ป้ายประชาสัมพันธ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ เป็นต้น ดำเนินการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจทันสมัยเพื่อส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ได้เข้าร่วม ได้เรียนรู้เรื่องราวทางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน ตลอดจนให้สนับสนุนงบประมาณในการจัดงานเกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมกิจกรรมสำคัญของศาสนาพุทธ ยึดมั่นรักษาศีล ลด ละ เลิกอบายมุข ตลอดช่วงเทศกาลวิสาขบูชานี้ ชวนพุทธศาสนิกชนร่วมกับชาวพุทธทั่วโลกร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ในโอกาส ‘วันวิสาขบูชานานาชาติ วันสำคัญสากลของโลก ครั้งที่ 19’ ที่จัดโดยรัฐบาลร่วมกับภาคีเครือข่าย ณ จังหวัดนครปฐม นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดงานส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา พุทธศักราช 2567 ระหว่างวันที่ 16 – 22 พฤษภาคม 2567 ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

ได้แก่ วันพุธที่ 22 พฤษภาคม 2567 ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 19 รูป และเวียนเทียน สรงน้ำต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นต้น และในส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด บูรณาการการจัดกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน จัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ อาทิ งาน “วิสาขปุรณมีบูชา สักการะมหาสถูปเจดีย์เขาคลังนอก” และตลาดชุมชนย้อนยุคทวารวดี ประจำปี 2567 ณ โบราณสถานเขาคลังนอก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมสุดอลังการ กิจกรรมเวียนเทียน 999 ย่าง สร้างบุญบารมี เดินตลาดชุมชนย้อนยุคทวารวดี ฯลฯ นับเป็นการส่งเสริมเทศกาลประเพณีของไทยโดยยกระดับสู่ระดับนานาชาติและเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกและต่อยอดการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเมืองโบราณศรีเทพที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากยูเนสโก ตลอดจนให้ประชาชนได้ระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา สร้างความรัก ความหวงแหนและภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจังหวัดเพชรบูรณ์อีกด้วย

Message us