เสื้อ”ศรีโคตรบูรณ์”กลุ่มศิลปาชีพผ้าไหมบ้านท่าเรือตัดให้ครม.ใส่วันประชุมครม.สัญจรนครพนม

เมื่อวันที่ 27 เมษายน สำนักโฆษก ทำเนียบรัฐบาล นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดนครพนม ติดตามงานสำคัญด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนา โดยได้เยี่ยมชมและศึกษาพื้นที่สำคัญทางวัฒนธรรมและเชิงศาสนา ประกอบด้วย วัดธาตุประสิทธิ์  กลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่อเรือ  ชมโครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพตามแนวพระราชดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”

สำหรับ วัดพระธาตุประสิทธิ์ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เป็นหนึ่งในสถานที่แหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาที่สำคัญอย่างยิ่งของจังหวัดนครพนม โดยมี พระธาตุประสิทธิ์ ประดิษฐานอยู่ภายใน วัดธาตุประสิทธิ์ ซึ่งเป็นเจดีย์โบราณ ที่ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2376 และมีการจำลองรูปทรงมาจากองค์พระธาตุพนม ซึ่งภายในจะบรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ ดินจากสังเวชนียสถาน 4 แห่ง และพระพุทธรูปเก่าแก่จำนวนมาก ซึ่ง พระธาตุประสิทธิ์ ถือเป็นพระธาตุประจำวันผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี โดยเชื่อกันว่าผู้ที่ได้ไปนมัสการพระธาตุแห่งนี้ จะได้รับอานิสงส์ส่งผลให้สัมฤทธิ์ผลในการปฏิบัติงาน  

 

จากนั้น เดินทางต่อไปยัง กลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอน้าหว้า เพื่อเยี่ยมชมศึกษา โครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพตามแนวพระราชดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”  โดยได้ฟังการบรรยายนิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมา ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วยแนวพระดำริ Sustainable Fashion:แฟชั่นแห่งความยั่งยืน”สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระทัยตั้งมั่นที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด ภูมิปัญญาการสร้างสรรค์ผืนผ้าในท้องถิ่นของไทยให้ดำรงอยู่ ตามแนวทางพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งจะเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนและยังเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติให้ดำรงคงอยู่ด้วยความมั่นคงและยั่งยืน 

อีกทั้ง ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำโครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ ได้ขับเคลื่อนและขยายผลโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับทีมที่ปรึกษา “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ด้วยภารกิจในการฟื้นฟูภูมิปัญญา ลายผ้า และความเป็นมาของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วยแนว พระดำริ “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” โดยมีกลุ่มผู้ประกอบการผ้าและเครื่องแต่งกายในพื้นที่

สำหรับ อำเภอนาหว้า เข้าร่วมสมาชิก จำนวน 285 คน  แบ่งโครงการออกเป็นจำนวน 6 กลุ่ม ได้แก่
 1) ศูนย์หัตถกรรมและจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านวัดธาตุประสิทธิ์  หมู่ที่ 4 ตำบลนาหว้า 
 2) กลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ หมู่ที่ 1 ตำบลท่าเรือ
3) กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองและปลูกหม่อนเลี้ยงไหมวัดศรีบุญเรืองบ้านนางัว หมู่ที่ 2 ตำบลนางัว
4) กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านโคกสะอาด หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านเสียว
5) กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาหว้า หมู่ที่ 3 ตำบลนาหว้า
6) กลุ่มคนรุ่นใหม่หัวใจคือชุมชน  เยาวชนในพื้นที่อำเภอนาหว้า

โอกาสนี้ คณะสื่อมวลชนเข้าชมกระบวนการผลิต การออกแบบลายผ้า และการดำเนินงานทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ สำหรับนำไปตัดเสื้อ “ศรีโคตรบูรณ์” ของคณะรัฐมนตรีที่จะสวมใส่ในการเข้าร่วมประชุม ครม.อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ครั้งที่ 2/2568 ในวันที่ 29 เมษายน 2568  สำหรับ เสื้อ “ศรีโคตรบูรณ์” ที่คณะรัฐมนตรีที่จะสวมใส่ในการเข้าร่วมประชุม ครม.อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ครั้งนี้ ถูกทอโดยกลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า ตามโครงการนาหว้าโมเดล ซึ่งเป็นผ้าไหม ย้อมสีธรรมชาติจากคราม (สีคราม) และครั่ง (สีแดง) ตกแต่งด้วยผ้าไหมมัดหมี่ลายขอก่ายแก้ว ซึ่งเป็นผ้าลายสร้างสรรค์จากโครงการ “นาหว้าโมเดล” โดยในกระบวนการย้อมเส้นไหม ในการก่อหม้อคราม จะใช้ใบกันเกรา ที่เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดนครพนม และใบหูกวาง นำมาต้มสกัดสีและนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำด่างธรรมชาติ ซึ่งจะใช้ในกระบวนการก่อหม้อย้อมครามต่อไป

“ชุดศรีโคตรบูร” มีต้นกำเนิดจากอาณาจักรศรีโคตรบูร อาณาจักรโบราณแถบลุ่มแม่น้ำโขง สะท้อนให้เห็นถึงศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านหัตถกรรมการทอผ้า โดยชาวจังหวัดนครพนมนิยมสวมใส่ในพิธีสำคัญทางศาสนา งานประเพณี และงานมงคลต่าง ๆ

เสื้อชุดศรีโคตรบูร ถูกตัดเย็บด้วยผ้าไหมพื้นเรียบสีกรมท่าย้อมคราม ขลิบด้วยผ้าไหมพื้นเรียบสีแดง (ย้อมครั่ง) ตกแต่งด้านหน้าด้วยผ้าไหมมัดหมี่ “ลายขอก่ายแก้ว” สื่อถึงความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคง ซึ่งทอโดยกลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ อำเภอนาหว้า ภายใต้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษฯ และโครงการ “นาหว้าโมเดล” ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา นับเป็นการหลอมรวมประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความภาคภูมิใจของชาวนครพนมไว้อย่างงดงาม

ทั้งนี้ จังหวัดนครพนมยังได้เตรียมกระเป๋ากกสานลายเกล็ดพญานาคและลิ้นจี่นครพนมเป็นของที่ระลึกอีกด้วย ซึ่งกระเป๋ากกเป็นการนำต้นกกมาฟั่นเกลียวและถักทออย่างประณีต ประดับด้วยลวดลายเกล็ดพญานาค ซึ่งสื่อถึงองค์พญาศรีสัตตนาคราช ผู้ปกปักรักษาเมืองนครพนม ผลิตโดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเหล่าพัฒนา ตำบลเหล่าพัฒนา อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม 

สำหรับ ลิ้นจี่นครพนม เป็นลิ้นจี่พันธุ์ นพ.1 ที่ปลูกในเขตพื้นที่ตำบลขามเฒ่า ของอำเภอเมือง จังหวัดนครพนม และได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ลิ้นจี่นครพนม เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558

สำหรับเมนูอาหารที่จัดเลี้ยง ครม. ประกอบด้วย ต้มส้มไก่บ้านใบมะขาม  ฉู่ฉี่ปลาเนื้ออ่อน  ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ก๋วยเตี๋ยวหมู (ร้านนำพร) ปากหม้อเวียดนาม (ร้านปากหม้อแม่ลาน) ลาบปลาคัง (ร้านเป๋นปลาเป็น) ตำลาว (ร้านอีสานรีเวอร์)  ข้าวเหนียวไก่ย่าง (ร้านสามอนงค์)  พุดดิ้งหม้อแกง (ร้านเทียนขวัญ) สับปะรดท่าอุเทน ลิ้นจี่พันธุ์ นพ.1 (GI)  ขนมเทียนสลัดงา  กาละแม (ร้านพรประเสริฐ) ฯลฯ  จากร้านอาหารขึ้นชื่อต่าง ๆ ในท้องถิ่น

Message us