เร่งสร้างทีมแม่บ้านมหาดไทยหนุนเสริมงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เคียงข้างผู้ว่าฯ

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดอุดรธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย มอบแนวทางการขับเคลื่อนงานสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ประจำปี 2566 ในการประชุมแม่บ้านมหาดไทยสัญจร ครั้งที่ 2 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2566 โดยมี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นางนงรัตน์ คงเกษม ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุดรธานี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด คณะกรรมการชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด และภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด รวมกว่า 500 คน ร่วมในงาน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า เป็นระยะเวลากว่า 131 ปี ที่กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่น “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ด้วยการขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “แก้ไขในสิ่งผิด” มากระตุ้นปลุกเร้าให้ทุกภาคส่วนช่วยกันฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองที่มีภาวะน้ำเสีย น้ำเน่าเหม็น มีสิ่งสกปรก ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากพวกเราทุกคน เพื่อให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม มีน้ำที่สะอาด ปราศจากมลพิษ อันจะทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมีความสุข ซึ่งท่านประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดและคณะกรรมการมีส่วนสำคัญในการร่วมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันสนองพระราชดำรัส “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

ทั้งนี้ ด้วยการรณรงค์ส่งเสริมการฟื้นฟูแหล่งน้ำดังที่ได้ช่วยกันดูแลในปีที่ผ่านมาให้ยังมีความสะอาด สวยงาม มีความเหมาะสมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พี่น้องประชาชนใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เฉกเช่นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันพัฒนา “คลองแม่ข่า” กระทั่งกลายเป็น Landmark ที่โด่งดังไปทั่วโลก ซึ่งแม้ว่าจะทำเสร็จเพียง 5-10 กิโลเมตรจาก 32 กิโลเมตรแต่ก็ได้กลายเป็นสถานที่หนึ่งที่นักท่องเที่ยวทุกกลุ่มทุกคนจะต้องไปเยือนเมื่อไปเที่ยวที่เชียงใหม่ โดยในปีนี้ทุกจังหวัดได้มีเป้าหมายจะปรับปรุงลำน้ำคูคลองเพิ่มขึ้นอีก 1 แหล่ง เพื่อให้การ Change for Good ไม่ใช่ไฟไหม้ฟาง แต่เป็นการ Change for Good ที่มีความยั่งยืนต่อเนื่อง จนสามารถแก้ไขในสิ่งผิด ทำให้ประเทศไทยเป็นแผ่นดินทองส่งต่อไปยังชั่วลูกชั่วหลาน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า แม่บ้านมหาดไทยและทีมงานต้องช่วยกันกระตุ้นปลุกเร้าให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและทีมงานของผู้ว่าราชการจังหวัดได้ผนึกกำลังขับเคลื่อนงานด้วยหลักการทรงงาน “บวร” “บรม” “ครบ” อันได้แก่ บ้าน คือ พี่น้องประชาชน ราชการ คือ ทุกส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และวัดหรือผู้นำศาสนาที่พี่น้องประชาชนให้ความเคารพนับถือเลื่อมใส ทำให้เกิด “ทีมผู้ก่อการดี” เพื่อให้เกิดสิ่งดี ๆ ด้วยน้ำมือของพวกเราทุกคน ทำให้คนไทยได้ลุกขึ้นมาช่วยกันดูแลชาติบ้านเมือง ด้วยการทำให้จิตอาสาที่มีอยู่ในสายเลือดของคนไทยได้แสดงออกมาเป็นการกระทำ โดยตั้ง “ทีมแม่บ้านมหาดไทย” ในทุกจังหวัด อำเภอ คู่ขนานไปกับ “ทีมจังหวัด ทีมอำเภอ ทีมตำบล ทีมหมู่บ้าน” ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ได้ช่วยกันจัดตั้งขึ้น โดยรวมทีมจากภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีในพื้นที่ อันได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน ช่วยกันปลุกเร้าความมุ่งมั่น ปลุกเร้า Passion ดึงผู้คนที่มีจิตอาสา เพราะ “ทีมต้องมีก่อน” เมื่อมีทีมผู้ก่อการดี สิ่งดี ๆ ที่เราคิดว่าจะเป็นประโยชน์ก็จะไม่โดดเดี่ยว เพราะเรามีทีมงานที่ไม่มีเงื่อนไขของตำแหน่งแห่งที่ อายุ เพศ มีแต่ “ความมุ่งมั่นตั้งใจที่อยากทำสิ่งที่ดีเพื่อส่วนรวม” ดังที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงกระตุ้นยุยงให้คนไทยไม่เอาอายุมาเป็นตัวเลขในการที่บอกว่าทำงานหรือไม่ทำงานเพื่อส่วนรวม รวมถึงพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงตรัสกับครูที่เกษียณอายุราชการว่า “ขอให้ช่วยเหลืองาน ช่วยเหลือเด็ก ในโรงเรียนถิ่นทุรกันดารด้วยกันต่อไป เพราะเราเกษียณอายุราชการได้ แต่เราต้องไม่เกษียณจากการทำประโยชน์ให้ส่วนรวม” และสิ่งที่พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ได้ทรงทำเป็นแบบอย่างให้กับพวกเราทุกคน

“ขอให้น้อมนำสิ่งเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานให้หนักกว่าเก่า ด้วยการไปชวนไปเชิญคนที่เราเห็นว่าเขาเป็นคนดี เป็นผู้มีความเสียสละ เต็มใจอยากมาช่วยเหลือสังคม โดยไม่แบ่งแยกว่าต้องเป็นข้าราชการหรือมีอายุเท่าใด และเมื่อมีทีมแล้ว ต้องติดต่อสื่อสารระหว่างทีมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้สิ่งที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดได้ไปลงนามประกาศเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ร่วมกับผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะความสำเร็จในงานของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องมีประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดและสมาชิกทั้งของจังหวัด อำเภอ ร่วมเดินเคียงคู่ เพื่อเป็นศูนย์รวมของคนที่มีจิตอาสาที่อยู่ในพื้นที่ให้มาช่วยกันทำสิ่งที่ดี” นายสุทธิพงษ์กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดต้องช่วยกันขับเคลื่อนการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ด้วยการบริหารจัดการขยะในชุมชนตั้งแต่ต้นทาง คือ ส่งเสริมให้ประชาชนทุกครัวเรือนรู้จักการคัดแยกขยะ เป็นมนุษย์ 3Rs คือ ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ เชิญชวนให้พี่น้องประชาชนทุกครัวเรือนจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน สำหรับในพื้นที่ชุมชนเมืองในเขตเทศบาล ให้ส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะ แล้วนำขยะเปียกหรือเศษอาหารไปใส่รวมในถังขยะเปียกลดโลกร้อนรวมของเทศบาลแล้วปิดฝา เพื่อลดการปลดปล่อยของเสียลอยตัวสู่ชั้นบรรยากาศ ที่จะทำให้เกิดสภาวะก๊าซเรือนกระจก ที่จะส่งผลให้ทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกต้องได้รับผลกระทบทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งทุกท่านมีหน้าที่ต้องไปสื่อสารเรื่องดี ๆ ทุกเรื่อง ต้องอรรถาธิบายถึงเหตุผลเบื้องหลังที่เราต้องทำ ไม่ใช่ทำแค่สวยงาม แต่เราทำเพื่อให้คนในจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน “มีความสุข” และที่สำคัญ เพื่อ “โลกใบเดียว” ของพวกเราทุกคน

ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้กล่าวถึงนโยบายของสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ในปี2566 ได้แก่ 1) โครงการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร น้อมนำแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ในทุกครัวเรือน และขยายผล โครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” 2) น้อมนำแนวพระราชดำริฯ ส่งเสริมการสร้างสุขอนามัยให้แก่เด็กและแม่เติบโตอย่างถูกต้องตามเกณฑ์มาตรฐานสุขลักษณะ 3) น้อมนำแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้มีอาชีพที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และ 4) โครงการ “ครอบครัวมหาดไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” โดยจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน สร้างความตระหนักและความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในการคัดแยกขยะเศษอาหารหรือขยะเปียกตั้งแต่ต้นทาง (ครัวเรือน) โดยสมาคมแม่บ้านมหาดไทยจะติดตามและประเมินผลการทำงานของประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเพื่อพิจารณาเข้ารับพระราชทานรางวัลเพชรดอกแก้วในช่วงปลายปี 2566 ต่อไป

จากนั้น นายสุทธิพงษ์ และ ดร.วันดี มอบเมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาวพันธุ์สีม่วงสิรินธรให้แก่ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด เพื่อนำไปต่อยอดขยายผลให้กับภาคีเครือข่ายให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่

Message us