เปิดยิ่งใหญ่งาน”มหกรรมเทศกาลอาหารและศิลปวัฒนธรรมไทย เที่ยวสุขใจวัดนางในถิ่นอ่างทอง 2568″

เมื่อวันที่ 12 เม.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมเทศกาลอาหารและศิลปวัฒนธรรมไทย เที่ยวสุขใจวัดนางในถิ่นอ่างทอง 2568” ณ วัดนางในธัมมิการาม อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง โดยมี น.ส.ธนนนท์ นิรามิษ ภริยารองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง ร่วมด้วย

โอกาสนี้ นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง นางศุทธิกานต์ วงศ์สถิตจิรกาล ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอ่างทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ประธานคณะกรรมาธิการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร นายสุรเชษ นิ่มกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง และประชาชนชาวจังหวัดอ่างทองกว่า 2,000 คน ร่วมงาน

นายอนุทิน กล่าวว่า การเปิด “มหกรรมเทศกาลอาหารและศิลปวัฒนธรรมไทย เที่ยวสุขใจวัดนางในถิ่นอ่างทอง 2568” ที่ อ.วิเศษชัยชาญ ถือเป็นฤกษ์ดีที่ทุกคนได้เริ่มต้นความสุขในเทศกาลวันปีใหม่ไทยหรือวันสงกรานต์ประจำปี 2568 ซึ่งจะช่วยเติมพลังไปดำเนินชีวิตในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ ได้ทำประโยชน์ให้กับตนเอง ให้กับครอบครัว ตลอดจนประเทศชาติ

นายภราดร กล่าวว่า งานในวันนี้เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของนายอนุทิน ที่อยากเห็นทุกจังหวัดของประเทศไทยนำของดีของจังหวัดตนเองมาเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน จ.อ่างทอง ได้นำของดีของตนเองมากำหนดเป็น Pilot Project นำร่อง คืออาหาร ศิลปวัฒนธรรม มารวมไว้ที่นี่ ภายใต้ชื่อ “มหกรรมเทศกาลอาหารและศิลปวัฒนธรรมไทย เที่ยวสุขใจวัดนางในถิ่นอ่างทอง” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับประชาชน เฉกเช่นเดียวกับ จ.บุรีรัมย์ ที่มีงาน Colors of Buriram

นายชวนินทร์ กล่าวว่า งานมหกรรมเทศกาลอาหารและศิลปวัฒนธรรมไทย เที่ยวสุขใจวัดนางในถิ่นอ่างทอง จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 11-15 เม.ย. 2568 ณ วัดนางในธัมมิการาม อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวของ จ.อ่างทอง และประชาสัมพันธ์อาหารพื้นถิ่น ขนมโบราณ ผลิตภัณฑ์ชุมชนและศิลปวัฒนธรรมของ จ.อ่างทอง ให้เป็นที่รู้จักทั่วกัน เกิดการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน โดยมีอาหารและขนมพื้นถิ่นผลิตภัณฑ์ชุมชนสินค้าโอทอป มากกว่า 120 ร้าน และมีการแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทยตลอดทั้งวัน มีการแข่งขันอาหารจากวัตถุดิบ คือ ปลาช่อน ซึ่ง จ.อ่างทอง เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงมากที่สุดในประเทศไทย มียอดเพาะเลี้ยงมากกว่า 1,500,000 กิโลกรัมต่อปี

Message us