
รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้จัดส่งคณะนักเรียนไทยไปร่วมการประชุมนานาชาตินักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (International Conference of Young Scientists : ICYS) ครั้งที่ 30 หรือ ICYS 2024 ระหว่างวันที่ 21 – 26 เมษายน 2567 ณ เมืองอิซเมียร์ สาธารณรัฐตุรกี โดยมีผู้ร่วมการแข่งขัน 117 คน จาก 13 ประเทศ ผลปรากฏว่า น.ส.ไอริณ อินทรทัต โรงเรียนชลราษฎรอํารุง จังหวัดชลบุรี นักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของ สสวท. นำเสนอโครงงานสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ หัวข้อ การพัฒนาแบบจำลองการเรียนรู้เชิงลึกเพื่อการวินิจฉัยและจัดกลุ่มย่อยของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จากข้อมูลภาพถ่ายรังสีโพสิตรอน (FDG-PET imaging) (An enhanced deep learning model for Alzheimer’s disease detection and subtype identification based on FDG-PET brain scans) ได้รับรางวัลเหรียญทอง จากการนำเสนอแบบบรรยาย และ รางวัลการนำเสนอโปสเตอร์ยอดเยี่ยมอันดับที่สอง
นายกษิดิ์เดช อิ้วศรีสกุล โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นักเรียนทุน พสวท. นำเสนอโครงงานสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ หัวข้อ DeepSymp : การยกระดับความแม่นยำในการวินิจฉัยผ่านการวิเคราะห์อาการผู้ป่วยโดยใช้ AI เพื่อการทำนายโรค (DEEPSYMP: Advancing Diagnostic Accuracy with AI-Enhanced Analysis of Patient Self-Reported Symptoms for Precise Disease Predictions) ได้รับรางวัลการนำเสนอโปสเตอร์ยอดเยี่ยมอันดับที่สาม

นายภคนันท์ ทัศนาภิรมย์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นักเรียนทุน พสวท. ได้นำเสนอโครงงานสาขาวิศวกรรม หัวข้อ mICKEY: แนวทางผสมผสานเพื่อการค้นหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ และการใช้แบบจำลองปัญญาประดิษฐ์เชิงลึกในการทำนายต้นกำเนิดของมะเร็งจากข้อมูลการเติมหมู่เมทิลของสายดีเอ็นเอ (mICKEY: Memory-Efficient Deep Learning for Personalized Biomarker Discovery and Cancer Origin Prediction from DNA Methylation Data) ในเวทีนานาชาติครั้งนี้ด้วย
นอกจากนั้น นักเรียนจากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง จำนวน 2 คน ที่เข้าร่วมการประชุมและได้รับรางวัลเหรียญเงินจากการนำเสนอแบบบรรยาย ได้แก่ นางสาววิรัลพัชร ศรีโอฬาร์ และนางสาวมัธยา หุ่นศรีสกุล โดยนำเสนอโครงงานสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ หัวข้อ ผลของสารสกัดใบบัวบกเพื่อการป้องกันการสูญเสียความทรงจำแบบ associative memory ในหนอน Caenorhabditis elegans (Effect of Centella asiatica extract on associative memory in Caenorhabditis elegans)

สำหรับ คณะอาจารย์ที่นำทีมเข้าร่วมเวทีศักยภาพเยาวชนครั้งนี้ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.บุญโชติ เผ่าสวัสดิ์ยรรยง ผู้อำนวยการโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ดร.ชมชื่น ศิริผันแก้ว ครูชีววิทยา นางสาวชนกานต์ ใจมา ครูโรงเรียนกำเนิดวิทย์ และ อาจารย์อัมริสา จันทนะศิริ นักวิชาการอาวุโส สาขาคณิตศาสตร์มัธยมศึกษา สสวท.
อย่างไรก็ตาม คณะนักเรียนไทยจะเดินทางกลับถึงประเทศไทยวันที่ 27 เมษายน 2567 เวลา 06.05 น. โดยปีหน้าการประชุมนานาชาตินักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 31 ประจำปี พ.ศ. 2568 ( ICYS 2025) จะจัดขึ้นที่ประเทศไทย วันที่ 4 – 10 เมษายน 2568 โดยความร่วมมือระหว่าง สสวท. และโรงเรียนกำเนิดวิทย์
สำหรับ การประชุม ICYS 2024 ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม 13 ประเทศ ประกอบด้วย จอร์เจีย ไทย เยอรมนี โรมาเนีย สหพันธรัฐรัสเซีย (ทีมเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและทีมมอสโก) สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล สาธารณรัฐเช็ก สาธารณรัฐเซอร์เบีย สาธารณรัฐตุรกี สาธารณรัฐสโลวีเนีย สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และฮังการี โดยได้นำเสนอโครงงานใน 6 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิศวกรรม (Engineering) จำนวน 10 โครงงาน สาขาคณิตศาสตร์ (Mathematics) จำนวน 11 โครงงาน สาขาฟิสิกส์ (Physics) จำนวน 10 โครงงาน สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (LifeSciences) จำนวน 19 โครงงาน สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Environmental Sciences) จำนวน 12 โครงงาน และสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Sciences) จำนวน 14 โครงงาน