เชื่อเป็นหนังม้วนยาวส่วนรถบรรทุกดาวเขียวไ่ม่จบง่าย

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่รัฐสภา นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ถึงกรณีรถบรรทุก ตกถนนบริเวณฝาท่ออุโมงค์สายไฟฟ้าและสายสัญญาณน้ำ บริเวณซอยสุขุมวิท 64 /1 ว่า เป็นผลมาจากการบรรทุกน้ำหนักเกิน บริเวณหน้ารถมีสติกเกอร์รูปดาวสีเขียวติดอยู่ ยืนยันว่า รถดังกล่าวเป็นรถที่จ่ายส่วยเพื่อวิ่งนอกเวลาและบรรทุกน้ำหนักเกินแน่นอน จะต้องจ่ายให้กับหลายหน่วยงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับรถของตนเอง เพราะไม่เช่นนั้นในกรุงเทพฯ ซึ่งมีสี่แยกจำนวนมาก จะมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่หากไม่มีสติกเกอร์จะต้องถูกเรียกจอดเพื่อตรวจสอบทุกจุด

ทั้งนี้ จะสังเกตว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกเพราะเมื่อก่อนเกิดเหตุลักษณะเดียวกันที่บริเวณถนนราชปรารภ สังเกตว่าน่าจะเป็นรถบรรทุกคันเดียวกัน และเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8พ.ย. ตนยังสงสัยว่าทำไมเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยและอุบัติภัยจึงไม่เข้าไปดำเนินการ แต่ให้เจ้าของรถเป็นผู้ดำเนินการเองโดยอ้างว่า รถมีมูลค่าหลายล้านบาท ทั้งที่ถนนที่รถบรรทุกทำพังก็มีมูลค่าหลายล้านบาทเช่นเดียวกัน ดังนั้นการที่ผู้ประกอบการทำแบบนี้ถือว่าเห็นแก่ตัวเกินไป ถ้ารถไม่ติดชะงักอยู่ในที่เกิดเหตุแล้วมีรถตามหลังมาตกลงไปในท่อดังกล่าว ที่มีความลึกถึง 7 เมตร ความสูญเสียจะมากขนาดไหน


นายอภิชาติ กล่าวต่อว่า สติกเกอร์รูปดาวสีเขียวที่มีสัญลักษณ์ตัวบีติดอยู่ จะเป็นสติกเกอร์สำหรับรถบรรทุกขนวัสดุขนดินในไซด์งานก่อสร้างเข้าออกเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ในไซด์งานก่อสร้างจะไม่มีตาชั่งน้ำหนักสำหรับรถบรรทุก ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรน้ำหนักก็เกินกฎหมายกำหนด ในขณะที่พื้นที่ทางหลวงจะมีด่านช่างเพื่อตรวจสอบน้ำหนักเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ตนได้พูดคุยกับนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯกทม.ว่า นำรถบรรทุกไปช่างน้ำหนักที่ใด จึงบอกว่าสามารถช่างได้ก่อนขึ้นทางด่วนจะมีด่านช่างน้ำหนักหากเกินจะไม่สามารถขึ้นทางด่วนได้ สิ่งที่เป็นห่วงที่สุดคือสะพานข้ามแม่น้ำในพื้นที่กทม. ไม่มีด่านช่างน้ำหนัก หากเกิดการชำรุดหรือเสียหายขึ้นมา ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก จึงอยากวิงวอนไปถึงประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกับรถบรรทุกขอให้ระมัดระวัง เพราะทักษะของผู้ขับขี่แต่ละคนไม่เท่ากัน

สำหรับ ส่วยสติกเกอร์รูปดาวที่เกิดเหตุนี้จะต้องจ่ายซ่วยให้กับหน่วยงานหลายแห่งทั้งสถานีตำรวจเจ้าของพื้นที่ที่รถต้องขับผ่าน กทม. เจ้าของพื้นที่ แต่ตนไม่สามารถฟันธงได้ว่า เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่กทม. ไม่สามารถเข้าไปเคลียร์กับเจ้าของรถบรรทุกได้เป็นเพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์หรือไม่ แต่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คาดว่าเป็นเช่นนั้น ตนไม่รู้ว่าเจ้าของรถบรรทุกจ่ายส่วยให้ใครเคลียร์กับใครในราคาเท่าไหร่ ซึ่งแตกต่างจากครั้งที่แล้วที่มีข้อมูลทุกอย่างครบถ้วน ส่วนสติดเกอร์ “เสี่ยบิ๊ก” ที่ติดอยู่บนรถบรรทุกคันเกิดเหตุเป็นใครนั้นตนไม่รู้จักมาก่อน

“ ผมขอเรียนตรงๆ ว่าการประกอบอาชีพรถบรรทุก ถ้าจะยืนอยู่บนการทำผิดกฏหมาย ผมขอให้เลิกทำไปเถอะครับ เพราะรู้มั้ยว่าชีวิตของคนที่ร่วมใช้ถนนกับท่านที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ต้องมาเสียหายหรือเสียชีวิตมันไม่สมควร การประกอบอาชีพสุจริตภายใต้กฎหมายก็สามารถอยู่ได้ ทำไมพวกผมอยู่ได้ ”นายอภิชาติกล่าว

เมื่อถามว่า รถบรรทุกเป็นบริษัทเดียวกับกรณีที่เคยเกิดเหตุที่แยกมักกะสัน และมาเกิดเหตุซ้ำหรือไม่ นายอภิชาติ กล่าวว่า รถสีเดียวกัน แต่รถคันแรกที่มักกะสัน ทำไมตรวจจับไม่ได้ ขอเปรียบเทียบว่ารถจักรยานยนต์ที่ใส่หมวกกันน็อคปล้นทองยังจับได้เลย แล้วนี่รถคันเบ้อเร่อทำไมถึงจับไม่ได้ นี่คือสาเหตุที่เรียกว่ากินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้องแต่ก็พูดไม่ได้ เพราะในกรุงเทพฯยังกล้ากระทำผิดแล้ว ในต่างจังหวัดจะรุนแรงขนาดไหน จึงฝากไปยังผู้บังคับบัญชาทุกหน่วยงาน ว่าเรื่องนี้จะต้องแก้ไข และรีบดำเนินการ เพราะในขณะนี้ตนในฐานะคณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบเรื่องส่วย เรื่องนี้หากมีอะไรก็จะรายงานต่อประธานกรรมาธิการคมนาคม

นายอภิชาติ กล่าวว่า ปัญหาส่วยมีหลากหลายมิติ เช่นเดียวกับปัญหาบ่อน จับได้ก็ย้ายที่ ก็ไม่จบสักที และจี้ไปยังรัฐบาลที่จะต้องดูแล เพราะถนนใช้งบมหาศาลในการก่อสร้าง แต่มีอภิสิทธิในการจ่ายเงินไม่กี่แสนบาท แต่สามารถทำงาน ได้เป็นอาทิตย์ สองอาทิตย์ หรือเป็นเดือน เพราะหากจบงานก็ย้ายไปที่อื่น ก็เคลียร์จุดอื่น ซึ่งคนเคลียร์อาจจะเป็นบัญชีม้า เรื่องนี้เป็นอะไรที่คนให้กับคนรับเขารู้กัน ซึ่งคนนอกก็ไม่สามารถดูตัวเลขได้

เมื่อถามว่า ขณะที่รถบรรทุกบางส่วนสะท้อนว่าหากไม่บรรทุกเกินน้ำหนักก็อาจจะไม่คุ้มค่าการวิ่งงาน นายอภิชาติ กล่าวว่า สหพันธ์มีรถอยู่ 4-5 แสนคัน แต่ทำไมสามารถวิ่งได้โดยถูกกฎหมายตั้ง 20 กว่าปี ดังนั้นจึงอยู่ที่จิตสำนึกกับคุณธรรม ทั้งนี้คาดการณ์ปริมาณน้ำหนักดินที่รถบรรทุกเมื่อวันเกิดอุบัติเหตุ มีหนักไม่น้อยกว่า 40 ตัน ตามกฎหมายกำหนดไว้ 25 ตัน แต่หากเป็นรถพ่วงก็อยู่ที่ 50 ตัน ซึ่งรถพ่วงบางเจ้า ขนน้ำหนักเป็น 100 ตันก็มี ทำให้ผู้ประกอบการบางรายมองว่ากฎหมายใครทำผิดก็ได้ อยู่ที่ว่าใครสามารถจ่ายให้เจ้าหน้าที่เท่าไหร่

“ผมมองว่า เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในที่เกิดเหตุต้องเป็นผู้ดำเนินการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไปบริการยกกรวย และให้บริการกับเจ้าของรถ ต้องไปตรวจสอบ เชื่อว่าเรื่องนี้ยาวแน่ ไม่ใช่ EP เดียว น่าจะมีหลาย EP อยู่ที่ว่าจะจริงใจแก้ไขปัญหาหรือไม่ ซึ่งในการร่วมมือกับนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร การแก้ไขปัญหาส่วยรถบรรทุก จนถึงตอนนี้ ยอมรับว่าปัญหาก็ยังมีอยู่แต่ไม่ใช่รูปแบบส่วยสติ๊กเกอร์ อาจจะเป็นการใช้บาร์โค้ด โดยรวบรวมทะเบียน ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้กำชับ ว่าหากหน่วยงานไหนถูกจับด้วยหน่วยงานอื่น ก็จะถูกสั่งย้ายทันที”นายอภิชาติ กล่าว

Message us