เชียงใหม่สั่งดูแลสุขภาพประชาชนจาก PM2.5 เทียบเท่าประกาศภาวะวิกฤต

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดเชียงใหม่ และการประชุมคณะกรมการจังหวัดเชียงใหม่ ประจำเดือนมีนาคม 2566 โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนราชการ และหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมกัน

นายนิรัตน์ กล่าวถึงสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่กำลังวิกฤตทั้งภูมิภาคว่า ที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่ สามารถควบคุมการเผา/จุดความร้อน ได้เฉลี่ยวันละ 50 จุด แต่ห้วงนี้จุดความร้อนได้สูงทะลุหลักร้อย ซึ่งอาจเกิดจากความเชื่อบางอย่างว่าจะต้องมีการเผาในห้วงนี้ อย่างไรก็ตาม ทุกอำเภอได้นำกำลังพลและยุทโธปกรณ์เข้าพื้นที่ดับไฟ แก้ไขสถานการณ์อย่างเต็มกำลัง โดยพบว่าร้อยละ 90 สามารถดับได้ภายในหนึ่งวัน ทั้งนี้ ขอทุกหน่วยอย่าหมดกำลังใจ ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด หากพื้นที่ใดต้องการขอรับการสนับสนุนกำลังพล ยุทโธปกรณ์ หรือความช่วยเหลืออื่นใด ขอให้แจ้งมายังจังหวัดได้ทันที ซึ่งได้มีการเตรียมอากาศ กำลังพล พร้อมออกปฏิบัติการตลอดเวลา 

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ แต่มีการเผาอยู่ในลำดับที่ 6 ของพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ  โดยพื้นที่ที่มีควันเป็นจำนวนมาก ได้แก่ อำเภอเชียงดาว เวียงแหง ฝาง และแม่อาย ทั้งนี้ แม้จะมีเสียงเรียกร้องขอให้มีการประกาศภาวะวิกฤติ เพื่อให้มีการช่วยเหลือเพิ่มขึ้นนั้น หลายภาคส่วนได้ระดมความคิดเห็นร่วมกันและมีมติแล้วว่า หากมีการประกาศภาวะวิกฤติจะส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วนโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก จังหวัดเชียงใหม่ (ศชฝ.ชม.) เพื่อยกระดับดูแลสุขภาพ ช่วยเหลือประชาชนเทียบเท่ากับการประกาศภาวะวิกฤติ โดยระดมความคิดเห็นกับทีมแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างดีที่สุด ซึ่งนับเป็นจังหวัดแรกในประเทศไทย ที่เดินหน้าเชิงรุกช่วยเหลือประชาชน พร้อมเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม ศชฝ.ชม. จะทำงานควบคู่ไปกับศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ที่หลังจากนี้จะได้ยกระดับมีการประชุมติดตามสถานการณ์แต่ละพื้นที่ในทุกวัน โดยอำเภอที่มีจุดความร้อนสูงติด 5 ลำดับ จะต้องชี้แจงสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขหรือการขอรับความช่วยเหลือ ขณะที่การขึ้นบินทำฝนหลวงยังคงเฝ้าติดตามสภาพอากาศในทุก ๆ วัน และดำเนินการอย่างต่อเนื่องเมื่อความชื้นในอากาศมีเพียงพอ

นอกจากนั้น ในวันเดียวกันนี้จังหวัดจะหารือผู้เกี่ยวข้องก่อนออกประกาศคำแนะนำเพื่อดูแลสุขภาพของประชาขนและแนวทางปฏิบัติต่างๆที่เกี่ยวข้องเป็นทางการด้วย

ข่าว/ภาพ : ภาณุเมศ ตันรักษา ผู้สื่อข่าวจังหวัดเชียงใหม่

Message us