
เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2568 ชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ส่งหนังสือเปิดผนึกถึงประธานรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภา เรื่อง “คัดค้านร่างพระราชบัญญัติการประกอบการธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ….” ระบุว่า…
ตามที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาล ได้ผลักดันร่างพระระราชบัญญัติการประกอบการธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. … ที่ประชาชนเรียกกันโดยทั่วไปว่า ร่างกฎหมายบ่อนกาสิโน และนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้รับร่างกฎหมายดังกล่าวบรรจุเข้าในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาตามระเบียบวาระ นั้น
ชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ ไม่สมควรบรรจุเข้าเป็นวาระเพื่อการพิจารณา ด้วยเหตุผลดังนี้
1.ร่างกฎหมายนี้ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะเร่งรีบพิจารณา เพราะไม่ปรากฏในนโยบายการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย และนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่หาเสียงไว้กับประชาชนในการเลือกตั้งทั่วไป แต่เป็นเรื่องที่นายทักษิณ ชินวัตรเป็นผู้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ที่เนชั่นทีวี และรัฐบาลไปรับมาบรรจุในนโยบายของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร
2.การกระทำทั้งหมดที่เกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้เป็นการกระทำที่มาจากนโยบายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖๕ พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ของชาติ พ.ศ.ศ. ๒๕๖๐ และประกาศพระบรมราชโองการ เรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ปี(พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๘๐) ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ในส่วนสำคัญคือ วิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ที่ระบุว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ดังกล่าว ซึ่งตราบใดที่ยังไม่มีการทบทวนแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ในรอบทุก ๕ ปีเสียก่อน การกระทำใดของคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และหน่วยงานของรัฐทุกหน่วย ย่อมต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ที่ได้ประกาศไว้แล้ว
ดังนั้นการกำหนดนโยบายของรัฐบาลก็ดี การเสนอร่างกฎหมายนี้ต่อรัฐสภาก็ดี และการหยิบยกร่างกฎหมายนี้ขึ้นพิจารณาในรัฐสภาก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖๕ และมาตรา ๗๕ และพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ของชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา๘ และมาตรา ๑๑ ตามที่อ้างถึง(๓)-(๓) ซึ่งจะส่งผลให้บรรดาผู้กระทำต้องตกเป็นผู้กระทำการใช้อำนาจอธิปไตยอันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และอาจต้องรับผลจากการกระทำของตนด้วยบทบัญญัติอันเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ
3.ร่างกฎหมายนี้ส่งผลกระทบต่อความคงอยู่และการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของรัฐอย่างมากมาย เพราะมีการนำที่ดินของรัฐที่หน่วยงานของรัฐครอบครองใช้ประโยชน์ไปให้เอกชนจัดทำสถานบันเทิงครบวงจรโดยไม่ปรากฏการตอบแทนที่คุ้มค่า เท่ากับเป็นการแปลงและนำทรัพย์สินของรัฐไปแปลงให้กับเอกชนใช้ประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยหลักการของกฎหมายเกี่ยวกับการใช้สอยทรัพย์สินของรัฐ โดยขัดหรือแย้งกับหน้าที่ของรัฐในการดูแล
4.การเสนอร่างกฎหมายนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของชาติและปัญหาปากท้องของประชาชนได้ แต่กลับเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนมาเฟียการพนันต่างชาติเพียงบางกลุ่ม โดยที่ประเทศไทยจะได้รับความสูญเสียและมีความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ อาจมีอาชญากรรม และกระทบต่อสังคมทุกระดับอย่างมากมายเป็นเวลายาวนาน ร่างกฎหมายนี้จึงเป็นเรื่องที่เอื้อต่อผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มทุนมาเฟียการพนันบางกลุ่มให้ได้รับประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นร่างกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๗๕ วรรคหนึ่งและวรรคท้า
5.ร่างกฎหมายนี้เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงอบายมุขที่จะเกิดขึ้นในสถานบันเทิงครบวงจร และการพนันออนไลน์ที่จะมีการพยายามทำให้ถูกกฎหมายแอบแฝงอยู่กับบ่อนกาสิโนให้มีการเล่นที่แพร่หลายจนไม่อาจควบคุมได้ ทั้งอาจทำให้เยาวชนของชาติเข้าไปมัวเมาในการพนันหลากหลายรูปแบบจนทำให้เสียผู้เสียคนอันอาจส่งผลให้ต้องก่ออาชญากรรมและการค้ามนุษย์เกิดขึ้นขึ้นได้อย่างง่ายดาย อันจะทำให้เยาวชนเหล่านั้นกลายเป็นพลเมืองที่ด้อยคุณภาพของประเทศชาติ นำไปสู่ความวิบัติของบ้านเมืองในอนาคตอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
6.ร่างกฎหมายนี้ไม่มีมาตรการใดๆ ในการคุ้มครองป้องกันมิให้ประชาชนในชาติมีภูมิคุ้มกันต่ออบายมุขในรูปแบบต่างๆของสถานประกอบการธุรกิจบันเทิงครบวงจรได้ อันจะนำพาประเทศไปสู่ความวิบัติได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ จึงถือว่าเรืองดังกล่าวเป็นการการกระทำที่ไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลที่ดีตามหลักการของรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เคยมีมาในราชอาณาจักรไทย เป็นการดำเนินการตามนโยบายที่ขัดแย้งต่อพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ของชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นการกระทำที่ขาดจริยธรรม ไร้ศีลธรรมและคุณธรรมที่นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยพึงมีและต้องรับผิดชอบต่อประชาชน บิดเบือนการใช้อำนาจอธิปไตยที่ได้รับมาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมุ่งหวังเพียงเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องโดยไม่ฟังการเรียกร้องและการปฏิเสธของสังคม ที่ปฏิเสธการตรากฎหมายฉบับนี้ อันเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับคำถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา๑๖๑ และข้ออ้างของตนที่ให้ไว้กับประชาชนตามที่อ้างตัวเองว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ จึงขอเรียกร้องต่อ สมาชิกรัฐสภา ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทางนิติบัญญัติของปวงชนชาวไทย ควรพิจารณาทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภาให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ด้วยการมีมติไม่รับหลักการของร่างพระราชบัญญัติการประกอบการธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. … เพื่อประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม อันจะนำไปสู่สันสู่สันติสุขของสังคมประเทศอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาไม่รับหลักการของร่างพระราชบัญญัติการประกอบการธรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ..ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอด้วยเหตุผลข้างต้น
ขอแสดงความนับถือ
ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย
นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์
นายโอรส วงษ์สิทธิ์
รศ.รุจิรา เตชางกูร
นางกรรณิการ์ บันเทิงจิตร
นายสมยศ สมวิวัฒน์ชัย
ดร.วิทธยา บริบูรณ์ทรัพย์
นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล
นาย ช.ชัยนาท ศรีเสมาเมือง
ศ.ไชยยศ เหมะรัชตะ
ศ.ดร.เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์
นายมานิจ สุขสมจิตร
นายเกียรติรติชัย พงษ์พาณิชย์
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
นายสุรพล พงษ์ทัดศิริกุล
ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ
รศ.ดวงสุดา เตโชติรส
ผศ.พรรณราย แสงวิเชียร
ดร.กฤษฎา ให้วัฒนานุกูล
นางสาวพวงเพชร สารคุณ
นายคมสัน โพธิ์คง
ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์
ดร.อภิชาติ ดำดี
นายชาลี กางอิ่ม
นายสมเกียรติ รอดเจริญ
นายปริญญา ศิริสารการ
ดร.วีนัส ม่านมุ่งศิลป์
นายรัฐ ชูกลิ่น
นายอรรครัตน์ รัตนจันทร์


