“หมอเปรม”จี้นายกฯหาคนรับผิดชอบปมตึกสตง.ถล่มทำเงินภาษีสูญกว่า 2 พันล้าน

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร สว.เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้ที่ประชุมพิจารณากรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา จนส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

ทั้งนี้ ในการอภิปรายสว.หลายคนได้ตำหนิถึงความไม่พร้อมของระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวเพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบ โดยเฉพาะ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. ได้อภิปรายอย่างดุเดือดว่า แผ่นดินไหวที่ผ่านมาเปลือยเปล่าระบบราชการไทยและรัฐบาลอย่างชัดเจนที่สุด จนทำให้คนไทยตาสว่าง เป็น Once in a lifetime แต่เราคงไม่ใช้คำว่า เป็นบุญที่ได้เจอแน่นอน แม้จะเป็นครั้งแรกที่ประสบ แต่รัฐบาลก็ไม่อาจแสดงความรักไร้เดียงสา ปฏิเสธความรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ถ้าจะว่าไปแล้วครอบครัวของนายกฯ เคยเผชิญวิกฤตแล้ว รุ่นพ่อเจอสึนามิ รุ่นอาเจอน้ำท่วมใหญ่ มาถึงรุ่นนายกฯ น่าจะเอาประสบการณ์การบริหารภาวะวิกฤติมาใช้ได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่นี่หาความเป็นมืออาชีพไม่ได้เลย

น.ส.นันทนา กล่าวว่า การสื่อสารในภาวะวิกฤตเป็นเรื่องที่รัฐบาลทำช้าและทำน้อยเกินไป เพราะทันทีที่เกิดแผ่นดินไหว รัฐต้องแจ้งต่อประชาชนให้ทราบทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น มันจะต้องเกิดภัยพิบัติอีกเมื่อไหร่ รัฐบาลถึงจะเตือนภัยประชาชน รัฐบาลไม่เคยสื่อสารให้ประชาชนอุ่นใจ มีแต่คอลเซ็นเตอร์เท่านั้นที่อยู่กับเรา แม้ว่าเราจะไม่ต้องการมันเลย เรื่องนี้ ตนทราบว่ารัฐบาลนี้ได้ตั้งงบประมาณพันล้านบาท เพื่อสร้างระบบเตือนภัย

“ท่านนายกฯ พูดว่าดิฉันสั่งการไปตั้งแต่ 14.00 น. แต่ระบบไม่ออก ปัญหาใหญ่ขนาดนี้ หน่วยงานภาครัฐเกี่ยงกันทำงานอีก มีกระแสข่าวว่า บริษัทอินเทอร์เน็ตทั้ง 2 ค่าย พร้อมส่ง SMS แต่ กสทช. และ ปภ.ไม่พร้อม ไม่รู้ว่าจะส่งข้อความอะไร มัวแต่ลังเลไป 23 ชั่วโมงผ่านไป ดิฉันได้รับ SMS ถึงวิธีการปฏิบัติตัวหากเกิดอาฟเตอร์ช็อก ดิฉันไม่แน่ใจว่า SMS นี้ ท่านส่งมาเตือนตัวเองหรือไม่ ให้รวบรวมสติแล้วรีบส่งข้อความอย่างเร็วไปให้ประชาชนรับรู้” น.ส.นันทนา กล่าว

ด้าน นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว.อภิปรายต่อว่า หลังเกิดแผ่นดินไหวตนตั้งใจ ถามกระทู้สดนายกรัฐมนตรี ในเรื่องการบริหารบ้านเมืองในภาวะวิกฤตปรากฏว่ากระทู้ตนจับฉลากไม่ได้ ตนไม่สบายใจที่เรื่องใหญ่ไม่มีสิทธิ์ได้ถามในการประชุมสภา แต่โชคดีที่มีสมาชิกวุฒิสภาได้เสนอญัตตินี้ขึ้นมาจึงมีโอกาสได้ร่วมอภิปราย แผ่นดินไหวในประเทศพม่าที่สะเทือนถึงประเทศไทย ตึกที่สะเทือนมากที่สุดจนถึงถล่มลงมาคือตึกของสตง. ไม่น่าเชื่อว่าตึกใหญ่ขนาดนี้จะถล่มมาไม่ถึง 1 นาที เงินภาษีประชาชนในการก่อสร้างกว่า 2,000 ล้านหายไปในพริบตา

ทั้งนี้ สว.มีหน้าที่เห็นชอบองค์กรอิสระแต่ไม่มีอำนาจต่อถอนองค์กรอิสระ แตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 สว.มีอำนาจทั้งแต่งตั้งและถอดถอน องค์กรอิสระ รวมถึงสตง.ด้วย ปัจจุบันนี้ถ้าเป็นตึกของหน่วยราชการอื่น แล้วเกิดปัญหา เหมือนสตง.คงถูกสอบสวน อย่างเร่งด่วน แต่วันนี้ใครสอบสวนสตง. ได้ฟังนายกฯพูดก็ยังไม่ลงลึกในรายละเอียด เพราะอำนาจของนายกฯไม่มี ถอดถอนองค์กรอิสระไม่ได้ ปัญหาภัยพิบัติครั้งนี้มีองค์กรอิสระเกี่ยวข้อง 2 องค์กร คือกสทช. ก็อ้างว่าได้รับการเตือนจากปภ.เป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมง โยนกันไปมาว่าใครคือต้นทางปลายทาง ส่งคำเตือนถึงประชาชนช้าใครจะรับผิดชอบ กสทช.และสตง.ใครจะถอดถอนได้เมื่อเลือกทำงานแล้วเหมือนตีเช็คเปล่าถอดถอนไม่ได้

“การก่อสร้างอาคารสตง.ใช้งบกว่า 2 พันล้านแต่พังในพริบตา ประชาชนไม่ปล่อยให้ลอยนวลแน่นอน ประชาชนรู้สึกว่าภาษีของเขาไม่มีใครปกป้องเลย ทีงบประมาณสร้างคู่คลองหนองน้ำให้ประชาชนแค่หลักแสนหายากยิ่งนัก แต่นี่งบกว่า 2,000 ล้านมาสร้างอาคารให้องค์กรอิสระ เมื่อพังแบบนี้จะต้องมีคนรับผิดชอบ บริษัทจีนที่เป็นบริษัทร่วมทุนมาก่อสร้างต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ขนเอกสารหนีลอยนวลและไม่มีคำตอบ ต่างประเทศมองเราอยู่ถ้าเราเคลียร์เรื่องนี้ไม่ได้ใครที่ไหนจะนับถือเรา”นพ.เปรมศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากสว.อภิปรายแสดงความคิดเห็นเสร็จสิ้น ที่ประชุมขอให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาส่งข้อสังเกต และข้อเสนอแนะของสว.ไปยังครม.รับทราบ และมอบหมายให้คณะกรรมาธิการ(กมธ.)บริหารราชการแผ่นดินวุฒิสภาไปศึกษาเพิ่มเติม และเมื่อพิจารณาแล้วเสร็จให้เสนอผลการพิจารณาต่อที่ประชุมวุฒิสภาต่อไป

Message us