หนักเอาเรื่อง 4 วันเทศกาลสงกรานต์สังเวย 138 ศพเจ็บ 1,002 ราย

เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 แถลงข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานการประชุม และประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568

นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และสถิติการได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ภาพรวมดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยปีนี้ จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากเราตั้งเป้าหมายไว้ว่า ต้องการลดตัวเลขเหล่านี้ให้เหลือน้อยที่สุด ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจึงต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อให้เป้าหมายที่วางไว้บรรลุผล

ทั้งนี้ ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เมษายน เป็นวันที่ 4 ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 241 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 249 คน ผู้เสียชีวิต 34 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 44.40 ดื่มแล้วขับ 24.90 และทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 14.52 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 77.20 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 85.89 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 41.91ถนนในอบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 29.05 ถนนในเมือง (เทศบาล) ร้อยละ 13.69

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 15.01 -18.00 น. ร้อยละ 22.41 เวลา 18.01 – 21.00 น. ร้อยละ 19.50 และเวลา 12.01 – 15.00 น. ร้อยละ 16.60 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 20.14 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,760 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,047 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (13 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สระแก้ว (6 ราย)

สำหรับ อุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 4 วันของการรณรงค์ (11 เมษายน – 14 เมษายน 2568) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,000 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,002 คน ผู้เสียชีวิต รวม 138 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 24 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (36 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (40 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (13 ราย)

Message us