สส.เชียงใหม่จี้รัฐปรับแผนคุมไฟป่าใหม่รับมือฝุ่นพิษภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 4 เมษายน สส.พรรคประชาชน นำโดย นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ เขต 8 รองโฆษกพรรค, นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ เขต 3, น.ส.พุธิตา ชัยอนันต์ สส.เชียงใหม่ เขต 4 และ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน ร่วมกับทีมส้มสู้ไฟและทีมอุทยานฯ ทำภารกิจดับไฟป่าที่อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้  อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ จนสามารถควบคุมไฟในส่วนที่รับผิดชอบได้ทั้งหมด 



นายพริษฐ์ กล่าวว่า จากการสังเกตการณ์และฟังเสียงสะท้อนของเจ้าหน้าที่และอาสาดับไฟป่า ปัญหาปัจจุบันมี 2 ประการ ปัญหาแรกคือเครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องมือหนึ่งที่สำคัญมากแต่ยังไม่มีการจัดสรรงบมา คือโดรน ซึ่งจะทำให้ทีมสามารถวางแผนปฎิบัติหน้าที่ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น นอกจากจะไม่มีงบแล้ว งบบางส่วนยังถูกนำไปใช้กับอุปกรณ์ที่อาจไม่ได้เป็นประโยชน์มากเท่าที่ควร รัฐจึงจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณและเพิ่มอำนาจในการตัดสินใจให้กับคนปฎิบัติหน้าที่หน้างาน ว่าจะนำงบประมาณดังกล่าวไปใช้กับอุปกรณ์อะไร

ทั้งนี้ ปัญหาที่สองคือกำลังคน แม้ปีนี้มีการเพิ่มงบประมาณที่ทำให้มีการเพิ่มจุดเฝ้าระวัง แต่ปัญหาที่พบคืองบถูกจัดสรรสำหรับ 3 เดือน กุมภาพันธ์-เมษายน จึงมีข้อกังวลจากผู้ปฎิบัติหน้าที่หน้างานว่าหากปัญหาไฟป่าลามเข้าสู่เดือนพฤษภาคม จะทำอย่างไรหากงบส่วนนี้หมดไป อีกเรื่องคือสวัสดิการของคนปฎิบัติหน้าที่หน้างาน ทั้งค่าตอบแทนที่เป็นธรรมหรือการทำประกันชีวิต ทั้งหมดนี้พรรคประชาชนจะทำข้อเสนอถึงรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาทั้งเฉพาะหน้าและเตรียมการสำหรับงบประมาณในปีถัดไป


ด้านนายภัทรพงษ์ กล่าวว่า อีกปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้ คือเกณฑ์การประกาศเขตภัยพิบัติที่ยังสูงเกินไป  หลายพื้นที่ไม่สามารถประกาศได้ ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงเงินทดรองราชการหรืองบกลางภัยพิบัติที่จะมาช่วยเจ้าหน้าที่หน้างาน เราเคยเสนอต่อรัฐบาลหลายครั้งและขอเรียกร้องอีกครั้งให้ปรับเกณฑ์ตรงนี้ให้สอดคล้องกับการใช้เงินในเรื่อง PM2.5 และไฟป่า ตอนนี้ค่า PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือสูงมาก แต่เราไม่มีแผนการรับเรื่องสุขภาพให้ประชาชนเลย ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย ห้องปลอดฝุ่น มุ้งปลอดฝุ่นสำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เหล่านี้สำคัญมากในการช่วยบรรเทาปัญหาจาก PM2.5 และทั้งหมดนี้จะทำได้ทันที​ หากมีการปรับเกณฑ์ประกาศเขตภัยพิบัติและงบกลางสำหรับเงิดทดรองราชการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ

สำหรับ ระยะยาว งบประมาณปี 2569 หวังว่ารัฐบาลจะเล็งเห็นถึงความสำคัญของอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมาะสมในการจัดการป้องกันไฟป่า ในเรื่องโดรนตรวจจับความร้อน งบปี 68 ถูกตัดแทบทั้งหมด ส่วนงบปี 2569 ที่กรมอุทยานฯ ของบไปแล้ว หวังว่าจะเห็นความจริวใจจากรัฐบาลผ่านงบประมาณที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาไฟป่าและ PM 2.5 ของภาคเหนือ

ขณะที่ นายณัฐพล กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขนาดเล็กกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ป่า อปท. เหล่านี้มีงบประมาณน้อยอยู่แล้ว แม้ว่าที่ผ่านมามีงบอุดหนุนทั่วไปสำหรับภารกิจป้องกันไฟป่า แต่ขอไปเป็นหลักพันล้านบาท ถูกอนุมัติมาแค่หลักร้อยล้าน ต้องกระจายไปหลายตำบลในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดภาคเหนือ นอกจากนี้ระเบียบที่ล็อกไว้ ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถซื้อโดรน ซื้อได้เพียงไม้ตบไฟ​ คราด​ ถังฉีดน้ำ และเครื่องเป่าลม​ นอกจากนี้ยังมีป่าสงวนและป่าชุมชน ป่าที่ดูแลโดยนายกเทศบาล นายก อบต. เขาจำเป็นต้องมีโดรนในการดูแลป่าของตัวเอง จะได้แบ่งเบาภาระของกรมอุทยานฯ หรือกรมป่าไม้ เพราะต่างคนต่างมีป่าที่ต้องรับผิดชอบ​และกำลังคนที่จำกัด ดังนั้นจำเป็นต้องแก้ไขระเบียบงบอุดหนุนทั่วไปสำหรับภารกิจดับไฟป่าของท้องถิ่นด้วย



ส่วน น.ส.พุธิตา กล่าวว่า ปัญหาที่เจอหน้างานวันนี้คือเจ้าหน้าที่ดับเพลิงขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำดื่ม​ อุปกรณ์ที่จำเป็นในการดับไฟ​​ สิ่งที่จำเป็นมากคือรถมอเตอร์ไซต์วิบาก เป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าพื้นที่ที่มีลักษณะสูงชัน วันนี้ได้ใช้รถมอเตอร์ไซต์วิบากเข้าไปส่งน้ำส่งอาหารส่งน้ำมันให้กับทีมดับไฟ ทำให้ทีมสามารถปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ต้องถอนกำลังเพราะขาดเสบียง​ และดับไฟได้จนจบ  จึงต้องการให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ด้วย

Message us