สลด! 5 วันเทศกาลสงกรานต์ตาย 171 รายเจ็บ 1,208 คนเกิดอุบัติเหตุ 1,216 ครั้ง

เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 แถลงข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 ช่วง 7 วันอันตราย โดยมี นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และสถิติการได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ภาพรวมลดลงกว่าปีที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุดยังคงเป็นการขับรถเร็วและดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะขับขี่ยานพาหนะโดยใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและการดื่มแล้วขับอย่างเข้มข้นทั้งในช่วงเทศกาลและตลอดทั้งปี

สำหรับ ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำวันที่ 15 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่ 5 การรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” พบเกิดอุบัติเหตุ 214 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 209 คน ผู้เสียชีวิต 27 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 36.92 ดื่มแล้วขับ 31.31 และทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 20.09 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.32 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 87.38 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36.45 ถนนในอบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 33.18 ถนนกรมทางหลวงชนบท ร้อยละ 14.95 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 18.01 -21.00 น. ร้อยละ 22.90 เวลา 15.01 – 18.00 น. ร้อยละ 20.56 และเวลา 00.01 – 03.00 น. ร้อยละ 13.55 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 20.34 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,764 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,039 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ (10 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ (13 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก (3 ราย)

อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ (11 เมษายน – 15 เมษายน 2568) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,216 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,208 คน ผู้เสียชีวิต รวม 171 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 21 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (44 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (47 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (15 ราย)

Message us