“สมเด็จธงชัย”ร่วมพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคล”รุ่นรวยที่สุด”

เมื่อวันที่ 7 กันยายน ที่วัดบางหลวงหัวป่า สาขาวัดระฆังโฆสิตาราม ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (เจ้าประคุณสมเด็จธงชัย) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในการประกอบพิธีพุทธาภิเษก วัตถุมงคลรุ่นรวยที่สุด วัดบางหลวงหัวป่า สาขาวัดระฆังโฆสิตาราม โดยมีเกจิอาจารย์ดัง 108 รูป จากทั่วประเทศ และอาจารย์บุญธรรม น่วมมานา (อ.ป่อง) อธิษฐานจิตปลุกเสกวัตถุมงคล โดยได้รับเมตตาจากพระมงคลวโรปการ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าอาวาสวัดชินวราราม วรวิหาร พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดบางหลวงหัวป่า สาขาวัดระฆังโฆสิตาราม ร่วมประกอบพิธี โดยนายอดิเทพ กมลเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี และภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ร่วมพิธีจำนวนมาก

บรรยากาศการจัดพิธีพุทธาภิเษกฯ เป็นไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานในพิธี ได้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยและถวายแป้งเจิมแด่เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เพื่อเจิมเทียนชัย เทียนมหามงคล แล้วจุดเทียนชัย เทียนมหามงคล พระสงฆ์ 9 รูป สวดคาถาจุดเทียนชัย จากนั้นเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เข้านั่งปรกอธิษฐานจิต ประธานในพิธีจุดเทียนน้ำพระพุทธมนต์ เจ้าหน้าที่อาราธนาพระปริตร พระสงฆ์ชุมนุมเทวดา เจริญพระพุทธมนต์ จบแล้ว ประธานในพิธีถวายใบพลูและแป้งเจิมแด่เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เพื่อเจิมใบพลู แล้วดับเทียนชัย เสร็จแล้วโปรยดอกไม้ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ในมณฑลพิธี ประธานในพิธีและผู้ร่วมพิธีถวายจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ อนุโมทนา กรวดน้ำ-รับพร เป็นอันเสร็จพิธี

พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร รักษาการเจ้าอาวาสวัดบางหลวงหัวป่า สาขาวัดระฆังโฆสิตาราม กล่าวว่า วัดบางหลวงหัวป่าแห่งนี้ เป็นวัดร้างตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ปัจจุบันไม่มีเสนาสนะ อาตมภาพจึงได้ร่วมกับนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งท่านดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นผู้ขอบูรณปฏิสังขรณ์ และขอยกวัดร้างแห่งนี้ให้เป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาต่อไป

วัดบางหลวงหัวป่า เป็นวัดสาขาของวัดระฆังโฆสิตาราม มีเนื้อที่ 23 ไร่ 64 ตารางวา โดยในช่วงที่ผ่านมา วัดได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ ประกอบด้วย ต้นไม้ประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ตามความตั้งใจของท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย และท่านนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่ประสงค์จะให้สถานที่แห่งนี้ เป็นรมณียสถาน สถานที่แห่งความร่มเย็น และเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเป็นสถานที่แห่งการร่วมทำในสิ่งที่ทุกคนในโลกใบนี้ต้องช่วยกัน นั่นคือ การลดภาวะโลกร้อนตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยเมื่อวัดแห่งนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จนเสร็จสมบูรณ์ ยังเป็นพุทธสถานสาธารณสงเคราะห์นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ป่วยยากไร้ และชาวบ้านในพื้นที่ ให้ได้รับประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ตามนโยบายด้านการสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคมอีกด้วย

สำหรับ พิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลรุ่น “รวยที่สุด” มีวัตถุประสงค์ที่จะสมทบทุนบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุภายในวัดบางหลวงหัวป่า สาขาวัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ระหว่างฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม กระทรวงมหาดไทย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ของฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย อันเป็นการส่งเสริมทำให้วัดซึ่งเป็นศาสนสถาน ได้เป็นสถานที่ศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนและประชาชน เป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ เป็นสัปปายะสถานสำหรับประชาชน

รวมทั้งเป็นสถานที่ในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ตลอดจนการนำศิลปวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของท้องถิ่นของชุมชนมาดึงดูดนักท่องเที่ยว กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย การสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการบูรณาการความร่วมมือ ในรูปแบบของพลัง “บวร” คือ บ้าน วัด ราชการ อันจะทำให้พุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไปได้มีความสุขกาย สุขใจ มีความสุขในการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน

Message us