วงประชุมศปช.เดือด”อนุทิน”ซัดผู้ว่าฯเชียงรายทำงานไม่ได้จากเหตุป่วย-รอเกษียณ

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งที่ 2 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมจะพิจารณาแผนการดำเนินงานการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เพื่อแก้ไขปัญหาดินโคลนถล่มในอำเภอเมืองเชียงราย และอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

ทั้งนี้ มีรายงานว่าในที่ประชุมนายอนุทิน มอบให้ นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย กำกับการดำเนินการ เพราะ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ไม่ขับเคลื่อนการทำงาน มีสาเหตุจากอาการป่วย และ รอวันเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้ รวมถึงได้มอบหมายรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ไปรักษาราชการแทนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป ขณะที่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษา ศปช.ตั้งคำถามถึงสาเหตุที่รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ไม่ตัดสินใจเรื่องสถานที่ทิ้งดินโคลนในพื้นที่ประสบอุทกภัยจังหวัดเชียงราย

ขณะที่ นายภูมิธรรม กล่าวก่อนการประชุมว่า  ต้องมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นฝนและดินโคลนทำให้เกิดปัญหาตามมาที่หลังภายหลังจากน้ำลด ซึ่งจะต้องเร่งคลี่คลายอย่างรวดเร็ว เพราะหากดินโคลนค้างอยู่ในท่อจะกลายเป็นหินปูนขึ้นมาได้ ปัจจุบันระดับโคลนที่ค้างอยู่สูงถึง 1-2 เมตร ทำให้ยากในการฟื้นฟูสภาพในพื้นที่ 

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดตั้งคณะที่ปรึกษาผู้มีความเชี่ยวชาญ โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี มาเป็นโฆษกประจำศูนย์ฯ เพื่อทำหน้าที่ชี้แจงสถานการณ์รายวันได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากการตั้งข้อสังเกตปริมาณฝนที่เกิดขึ้นไม่ได้มากกว่าที่ผ่านแต่เป็นการตกเฉพาะที่แบบซ้ำซาก ซึ่งน่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ( Climate Change ) จึงมอบหมายให้กรมอุตุนิยมวิทยาไปศึกษาให้ถ่องแท้  ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจหลักที่ต้องชี้แจงและเตือนภัย เพื่อป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็น 2 ลักษณะผสมของฝนและดินโคลน  ซึ่งสถานการณ์ตรงนี้แตกต่างจากที่อื่น เพราะเป็นน้ำผสมดินโคลน ดังนั้น เป็นน้ำที่อันตรายกว่าน้ำท่วมปกติ คล้ายกับภูเขาไฟระเบิดที่เป็นลาวาผสมน้ำไหลลงมา และเชื่อว่าอาจจะเกิดขึ้นได้อีก โดยมอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณีไปศึกษาให้ครบถ้วน


ทั้งนี้ น้ำผสมโคลนที่ตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้การกำจัดและกู้ภัยเป็นไปได้ยาก ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ประเทศไทยพบเจอ  กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะต้องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการกับเรื่องนี้ ส่วนฝ่ายกองทัพก็ต้องเข้ามาศึกษาตั้งแต่เบื้องต้นรวมทั้งจะแก้ปัญหาในอนาคตอย่างไร รวมถึงการจัดหาเครื่องมือที่เหมาะสมเข้าไปในพื้นที่ประสบภัย
นายภูมิธรรม ยังกล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ที่อำเภอเมืองและอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ว่า  ปัญหาที่พบขณะนี้คือรถขนาดใหญ่วิ่งได้แค่บนถนนหลวง ไม่สามารถเข้าไปตามซอกซอยได้และไม่สามารถเข้าไปกู้ภัยได้ จากสถิติบ้าน 1 หลัง ต้องใช้กำลังพลถึง 30 คน ภายใน 1 วัน มีประชาชนเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก จึงต้องใช้แผนระดมพลและเครื่องมือที่จำเป็นเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งยอมรับว่าเครื่องมือขาดแคลนอยู่มาก เพราะไม่เคยเจอเรื่องนี้

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ในวันศุกร์ที่ 27 กันยายน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทุกส่วน จะเดินทางไปยังอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งน้ำกกทะลักเข้ามา มีโคลนไปอยู่ตามบ้านและพื้นที่เศรษฐกิจ ซึงจะไปติดตามการแก้ปัญหาที่จุดนั้น โดยจะเดินทางไปสองวัน และจะพักที่อำเภอแม่สาย 1 คืน และในช่วงเช้าจะเดินทางไปที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะติดตามสถานการณ์น้ำหลาก จากนั้นมอบหมายให้รัฐมนตรีแยกย้ายลงพื้นที่ไปในจุดต่าง ๆ  และเมื่อนายกรัฐมนตรีไปถึง ก็จะได้ประชุมวอร์รูม สรุปสถานการณ์เชียงรายในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้างและมีปัญหาอะไรที่ต้องคลี่คลาย โดยนายกรัฐมนตรีจะรับฟังรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อสั่งการและแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงทีต่อไป


สำหรับ คณะทำงาน ศปช. จะมีการประชุมทุกวันในเวลา 09.00 น. เพื่อประเมินสถานการณ์และรับทราบรายงานจากทุกพื้นที่ เพื่อดูว่าจะมีการแก้ไขอย่างไร  ซึ่งจะมี 2 คณะทำงาน ที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คลี่คลายเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้รวดเร็วที่สุด ส่วนปัญหาการเยียวยา ที่มีกฎระเบียบและดำเนินการในภาวะปกติ เป็นอุปสรรค เพราะสิ่งที่ประชาชนเผชิญอยู่ตอนนี้ เขาอยากรู้ว่ารัฐบาลจะดูแลเขาอย่างไร และที่ผ่านมาการเยียวยามีปัญหาเรื่องความล่าช้า โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดูแลว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการตรงนี้ให้ถูกกฎหมาย แต่รวบรัดให้เร็วที่สุด เพื่อให้เงินถึงมือประชาชน ให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้ง ซึ่งลักษณะน้ำท่วมแบบพิเศษนี้จะต้องมีการกำหนดค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นชอบแผนการดำเนินงานการช่วยเหลือ/ฟื้นฟู เพื่อแก้ไขปัญหาดินโคลนถล่มในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย การดำเนินการในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย และการดำเนินการในพื้นที่อำเภอแม่สาย ดังนี้ การดำเนินการในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย แบ่งเขตการดำเนินงานในเขตเทศบาลนครเชียงราย จำนวน 745 หลัง และนอกเขตเทศบาล จำนวน 6,614 หลัง กำหนดดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 29 กันยายน 2567 ส่วนการดำเนินการในพื้นที่อำเภอแม่สาย แบ่งการดำเนินการเป็น 5 โซน กำหนดดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 30 วัน หรือประมาณวันที่ 20 ตุลาคม 2567

Message us