“รัชนก”โวยแหลกกลางสภาฯถูกแก้รูปนายกฯในสไลด์ประกอบการอภิปราย

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วาระแรก ช่วงเวลา 18.40 น. เป็นการอภิปรายของ น.ส.รักชนก ศรีนอก ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล

ทั้งนี้ ก่อนการอภิปราย น.ส.รัชนกได้ขอใช้สิทธิหารือ ว่า หน้าปกของสไลด์ที่ตนนำมาประกอบการอภิปราย ถูกเจ้าหน้าที่ตัดและเปลี่ยนแปลง จากรูปของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ โดยเซ็นเซอร์เป็นรูปหุ่นยนต์ จึงอยากถามว่าสไลด์ของตนเป็นการเสียดสี หรือผิดกฎของสภาข้อใด สภาฯ มีหลักเกณฑ์ ข้อบังคับเปลี่ยนสไลด์อย่างไร เพราะเข้าใจว่าเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ความคิดสร้างสรรค์ หากแค่สไลด์รับไม่ได้ ไม่รู้ว่ารัฐบาลนี้จะส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างไร ทั้งนี้ควรขอบคุณตนที่นำรูปนายเศรษฐามาใส่ เพราะคือการให้ความสำคัญ เนื่องจากทุกวันนี้ไม่รู้ว่าพรรคเพื่อไทยหรือข้าราชการให้ความสำคัญกับนายเศรษฐา หรือไม่ ดังนั้นเมื่อนำสไลด์ขึ้นเพื่อย้ำเตือนว่านายเศรษฐา ว่ายังเป็นนายกฯประเทศนี้ เพราะประชาชนสับสนว่ามีนายกฯ กี่คน ชื่ออะไร

ส่งผลให้ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานที่ประชุมชี้แจงว่า การตรวจสอบสไลด์เป็นเรื่องของกรรมการสภาฯไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล ซึ่งลักษณะที่นำภาพของคนอื่นมาใช้ต้องไม่มีลักษณะล้อเลียน อาจเป็นไปได้ว่า มีการตัดต่อที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้สไลด์ดังกล่าวเป็นเพียงหน้าปกไม่กระทบอะไรขอให้อภิปราย

จากนั้น นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ที่นั่งในห้องประชุม ลุกขึ้นอภิปรายว่า การพิจารณาเรื่องสไลด์เป็นอำนาจของประธานสภาฯ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ตนไม่อยากให้ใช้แทกติกแบบนี้ เมื่อรูปใช้ไม่ได้ กลับนำภาพมาขยายให้ถ่ายภาพ มันตลก การตัดต่อหน้านายกฯ ใส่รูปอื่น ไม่สมควรอย่างยิ่ง ฝากให้พิจารณาและขอให้เริ่มอภิปรายได้เพื่อไม่ให้เลิกดึก

นายปดิพัทธ์ ชี้แจงว่า รูปรัฐมตรีสามารถใช้ได้ หากไม่ตัดต่อ ตนมองว่าภาพมีลักษณะไม่สุภาพ เจ้าหน้าที่แก้ไข และขอเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้ น.ส.รักชนก ชี้แจงว่า ตนไม่ได้มีเจตนาเสียดสี และขอนำไปโพสต์ในโซเชียลฯให้ประชาชนตัดสินว่า ผิดข้อบังคับหรือไม่ ขอปรึกษาด้วยว่า นายกฯ หรือรัฐมนตรีเป็นบุคคลสาธารณะ รูปนายกฯ มาจากโซเชียลฯ ทำให้นายปดิพัทธ์ กล่าวขึ้นว่า ตนวินิจฉัยแล้ว การตัดสินของกรรมการอาจจะไม่ถูกใจท่าน แต่ถ้าเรายอมรับกติการ่วมกันสามารถอภิปรายต่อได้

ทำให้ น.ส.รักชนก อภิปรายในส่วนเนื้อหาที่เตรียมมาต่อไปเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำงบประมาณว่า ปีที่ผ่านมาตนได้เป็นประธานอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำงบประมาณ ปี 68 ทำให้ได้เห็นการจัดทำงบประมาณตั้งแต่เริ่มต้น จนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมา ทำให้เข้าใจปัญหาว่าทำไมรัฐบาลกี่ยุคกี่สมัย ทำไมถึงไม่สามารถนำส่งนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะนอกจากนโยบายที่อาจไม่ได้คิดมาอย่างรอบคอบแล้ว ยังไม่การจัดทำงบประมาณที่เป็นกล่องดำในกระบวนการอีกหลายจุด

น.ส.รักชนก กล่าวว่า การจัดทำงบจะเริ่มด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์และเป้าหมายการจัดสรรในช่วงสิ้นปี และต้นปีนายกฯจะแถลงยุทธศาสตร์การจัดสรรโดยบอกว่าจะทำนโยบายอะไรบ้างให้กับข้าราชการ ปีนี้นายกฯแถลงไปแล้วตั้งเป้าไว้ใหญ่โต บางอย่างก็ตรงกับก้าวไกล เช่น เรื่องน้ำประปาดื่มได้ ซึ่งผลลัพธ์ที่นายกฯหรือรัฐบาลนี้ต้องการยิ่งใหญ่มากที่อยากเป็นศูนย์กลาง 8 ด้าน และอยากเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่าใน 4 ปี และอยากให้ จีดีพีโตเฉลี่ย 5% ต่อปี แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดคือนายกฯไม่ได้มีการตั้งกรอบความสำเร็จของแต่ละนโยบายอย่างให้สำเร็จอย่างไร และไม่ได้มาพร้อมกับกรอบงบประมาณ ว่าใช้งบเท่าไหร่ จึงอยากให้นายกฯกำหนดเป่าหมายและกรอบงบประมาณให้ชัดเจน

“สิ่งที่นายกฯแถลงบางทียิ่งใหญ่เกินไป เช่น โครงการแมดชิ่งฟัน ที่นายกฯไปแถลงถึงนโยบายนี้หลายเวที และถูกบรรจุเป็นนโยบายสำคัญ 142 นโยบายของรัฐบาล สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งเป็นหน่วยรับงบประมาณก็รับลูกเขียนคำของบประมาณเข้ามาประมาณ 5 พันล้านบาท แต่สำนักงบประมาณไม่จัดสรรให้กับโครงการนี้ ถ้าปีนี้ เอสเอ็มอี ไม่ได้รับการสนับสนุนโครงการ และนโยบายเอสเอ็มอีของรัฐบาลไม่ไปถึงไหนใครต้องรับผิดชอบ นายกฯ สสว. หรือสำนักงบประมาณ ดิฉันไม่แน่ใจว่า สำนักงบประมาณยังเห็นหัวท่านนายกฯอยู่หรือไม่ เพราะนายกฯแถลงทุกเวทีและหน่วยงานก็ของบแต่สำนักงบก็ยังตัด”น.ส.รัชนก กล่าว

Message us