รมว.ดีอีแจงยิบวุฒิสภามาตราการปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณากระทู้ถามเป็นหนังสือของ พล.ต.โอสถ ภาวิไล สว. ตั้งกระทู้ถามนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เรื่อง การป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้เท่าทัน รวมถึงแผนการป้องกันและปราบปรามให้เป็นวาระแห่งชาติ

นายประเสริฐ ชี้แจงว่า รัฐบาลตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาและยอมรับว่าปัญหามีความรุนแรงยิ่งขึ้น และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาสร้างความเสียหายให้กับประชาชน ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการป้องกันคือ 1.การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการจับกุมป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้มีการประสานงานระงับบัญชีม้าและบัญชีอื่นที่เกี่ยวข้อง ประสานกับสำนักงาป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.)ได้ตรวจสอบเส้นทางการเงินและยึดยึดทรัพย์ ทั้งยังประสานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีสายด่วนแจ้งหลอกการลงทุน และประสานกับดีเอสไอ และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตรวจสอบซิมโทรศัพท์ถึงความผิดปกติในการใช้งาน เป็นต้น

2.มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ หรือ AOC 1441และ3.การออก พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.67 นี้ โดยจะเป็นมาตรการป้องกันและปราบปรามการฉ้อโกงและการหลอกลวงออนไลน์ กำหนดบทลงโทษผู้เปิดหรือยินยอมให้คนอื่นใช้บัญชีเงินฝากหรือบัญชีม้า โทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกรณีเป็นธุระจัดหาบัญชีจำคุก 2-5 ปี ปรับ 200,000 ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ในเรื่องนี้ต้องประสานงานกับต่างประเทศ จึงมอบหมายปลัดกระทรวงดีอีเอส. ไปประสานกับทางกัมพูชาเพื่อบูรณาการในการปราบปรามช่วงรอยตะเข็บชายแดน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัญญาณ หรือผู้ร้ายที่เดินทางข้ามไปมา” นายประเสริฐ กล่าว

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า ส่วนการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงภัยการหลอกลวง โดยมีเว็บไซต์ของกระทรวงและศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ทั้งเฟซบุ๊ก Facebook แอปพลิเคชั่น ไลน์ LINE อินตราแกรม Instagram ทวิตเตอร์ Twitter และยังมีสานด่วน AOC1441 นอกจากนี้ยังกล่าวย้ำถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นที่รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญ เนื่องจากความเสียหายวันละ70 -100 ล้านบาท โดยเฉพาะเรื่องของการหลอกให้ซื้อสินค้าหรือการซื้อสินค้าไม่ตรงปก และการหลอกให้ประชาชนลงทุน โดยกระทรวงดีอีเอส.จะยกระดับการทำงานให้เข้มข้นรองรับการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน หากการดำเนินการยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้รัฐบาลพร้อมจะยกระดับให้ปัญหาดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ

นอกจากนี้รัฐบาลมีแผนการแก้ไขปัญหา 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะสั้นเคร่งครัดในการใช้พ.ร.บ.คุ้มครองส่วนบุคคล หรือ กฎหมาย PDPA จากนั้น ระยะกลาง มีแผนเกี่ยวกับการใช้ AI ในการเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยการจับผิดสิ่งปกติข่าวลวงหรือข่าวปลอม ส่วนระยะยาว จะมีการแก้ไขกฎหมาย เช่น กฎหมายว่าด้วยความผิดคอมคอมพิวเตอร์ และกฎหมายที่ป้องกันและปราบปรามความเสียหายที่เกิดจากไซเบอร์ กฎหมาย คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และที่สำคัญจะต้องสร้างการตระหนักรู้ให้กับประชาชน ผ่านโครงการ “วัคซีนไซเบอร์” เพื่ออบรมให้ความรู้กับประชาชน

Message us