ยึดครีบฉลามหนังปลากระเบนและอวัยวะภายในของปลาตากแห้งนับ 10 ตันมูลค่า 40 ล้าน

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากรได้มีการขอหมายศาลเข้าตรวจค้นจับกุมสินค้าไม่ได้มาตรฐานจากโกดังที่เก็บสินค้าเพื่อรอการจำหน่ายได้เป็นจำนวนมาก และยังมีการเพิ่มอัตราสุ่มเปิดตรวจตู้คอนเทนเนอร์สินค้า เพื่อป้องกันมิให้สินค้าที่อาจไม่ได้มาตรฐานผ่านออกจากอารักขาของกรมศุลกากรก่อนได้รับการอนุญาตจาก สมอ. กระทรวงอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังได้บูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมประมง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมควบคุมโรค เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าสัตว์มีชีวิต ซากสัตว์ หรือพืชป่าคุ้มครอง เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปรามร่วมกับสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง ได้ตรวจจยึดสินค้านำเข้าที่มีประเทศกำเนิด CHINA โดยสำแดง ชนิดสินค้าเป็นหลอดไฟ LED จำนวน 169,000 ชิ้น มูลค่า 549,492 บาท ไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) การกระทำดังกล่าว เป็นความผิดตามมาตรา 208 202 ประกอบมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560

ต่อมา เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ร่วมกับสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ และกรมประมง ร่วมกันเปิดตรวจตู้คอนเทนเนอร์ เนื่องจากสงสัยว่ามีของต้องห้ามต้องกำกัดพยายามลักลอบนำเข้าราชอาณาจักร เมื่อทำการตรวจสอบพบ หนังปลาฉลามสายพันธุ์ต่าง ๆ ตากแห้งครีบปลาฉลามสายพันธุ์ต่าง ๆ ตากแห้ง หนังปลากระเบนพันธุ์ต่าง ๆ ตากแห้ง และอวัยวะภายในต่าง ๆของปลา ตากแห้ง น้ำหนักรวม 10 ตัน มูลค่า 40 ล้านบาท การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 166 167 และมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกอบกับสินค้าดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ 2558 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

นายพันธ์ทอง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยด่านศุลกากรนครพนม ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 ได้ขอหมายค้นเข้าตรวจสอบสินค้า ตามใบขนสินค้าขาเข้า เนื่องจากสงสัยว่ามีสินค้าพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากรและหลีกเลี่ยงข้อจำกัด ตรวจพบ อวัยวะเทียมเพศชาย (Sex toy) จำนวน 400 ชิ้น มูลค่า 200,000 บาท การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 202 243 244 และ 252 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

อย่าไรก็ตาม กรมศุลกากรจะเข้มงวดกวดขันในการตรวจสอบการนำเข้าส่งออกสินค้าให้ถูกต้องตามกฎหมายศุลกากร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป

Message us