ยกระดับความร่วมมือป้องปรามการทำผิดซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งปั่นหุ้น-อินไซด์

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. นายนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ อันเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ระหว่าง ปปง. ก.ล.ต. และ ตลท. ณ หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ ชั้น 3 อาคาร B ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อยกระดับความร่วมมือในการป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ อันเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ และเพื่อสนับสนุนให้การดำเนินการบังคับใช้กฎหมายและการทำงานร่วมกันของแต่ละหน่วยงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานปปง. กล่าวว่า ปปง. มีบทบาทต่อตลาดทุนในแง่ของทั้งการเป็นหน่วยกำกับดูแลบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ก็เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิดมูลฐานที่เกิดขึ้นในตลาดทุนด้วย การดำเนินการกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งการสร้างราคา (ปั่นหุ้น) การใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหลักทรัพย์ (อินไซเดอร์ เทรดดิ้ง)

ทั้งนี้ ปปง. จะได้รับการประสานจาก ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลบริษัทหลักทรัพย์โดยตรงถึงข้อมูลของการกระทำความผิด รวมถึงข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งทำหน้าที่เป็นด่านแรกในการตรวจสอบราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นว่ามีความผิดปกติหรือไม่ จากนั้นสำนักงาน ปปง. จึงจะรับช่วงต่อในส่วนของการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินเพื่อนำไปสู่การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินต่อไป ทั้งนี้ ภายใต้กรอบกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

“ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ ถูกมองจากผู้ลงทุนว่าทำงานล่าช้า จนส่งผลให้ไม่สามารถป้องปรามอาชญากรรมในตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของตลาดทุนไทย ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากความผิดมีความซับซ้อนและมีธุรกรรมจำนวนมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้ง ปปง. จึงต้องพิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบภายใต้กรอบกฎหมาย เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคธุรกิจการลงนาม MOU ในวันนี้ จึงเป็นสิ่งยืนยันให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า ในอนาคตหากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับซื้อขายหลักทรัพย์เกิดขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพร้อมประสานข้อมูลระหว่างกัน และลดความซ้ำซ้อนในกระบวนการทำงาน รวมถึงการส่งไม้ต่อระหว่างหน่วยบังคับใช้กฎหมายภายใต้กรอบกฎหมายของตนเพื่อการทำงานที่รวดเร็วยิ่งขึ้น”นายฉัตรชัยกล่าว

ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ประธานกรรมการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีคดีใหญ่ ๆ เป็นที่สนใจของผู้ลงทุนเกิดขึ้นในตลาดทุนหลายคดี ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายจำนวนมากและมีผลกระทบในวงกว้าง ในโอกาสที่ตนเข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการ ก.ล.ต. มีความตั้งใจว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการยกระดับความเชื่อมั่นในตลาดทุนคือ การดูแลธรรมาภิบาล ซึ่งจะต้องมีกลไกกำกับดูแลที่ชัดเจนและทันต่อเหตุการณ์ และมีนโยบายที่จะให้ความสำคัญกับการป้องปราม และบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดในตลาดทุนให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วเท่าทันกับสถานการณ์ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนได้ ซึ่งการประสานความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายในตลาดทุนในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการที่จะทำให้การปฏิบัติของหน่วยงานต่าง ๆ มีช่องว่างที่ลดลง เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายยิ่งขึ้น

ศ.ดร. พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงาน ปปง. และตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างต่อเนื่อง โดยมีบันทึกข้อตกลงแบบทวิภาคีระหว่าง ก.ล.ต. กับสำนักงาน ปปง. และ ก.ล.ต. กับตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการบังคับใช้กฎหมายระหว่างกัน ทั้งนี้ การกระทำความผิดเกี่ยวกับการกระทำไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ ตลอดจนความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกงหรือประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือกระทำการทุจริตตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน

ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวถึง ความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดทำบันทึกความตกลงระหว่างสำนักงาน ปปง. สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า เนื่องจากเรื่องระยะเวลาการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดเป็นเรื่องหนึ่งที่ควรจะต้องเร่งดำเนินการ คือ การลดความซ้ำซ้อนในกระบวนการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย เช่น ถ้าสามารถที่จะแลกเปลี่ยนหรือแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้โดยรวดเร็ว และไม่ต้องจัดทำข้อมูลเดียวกันซ้ำ ๆ น่าจะช่วยลดระยะเวลาดำเนินการตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหมายได้ รวมถึงการใช้กระบวนการทางกฎหมาย ปปง. เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในคดีที่่มีผลกระทบต่อสังคมและผู้ลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเห็นว่าจะทำให้สามารถดึงความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนกลับมาได้ และป้องปรามให้ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดเกิดความเกรงกลัว

สำหรับ พิธีลงนามบันทึกความตกลงระหว่างสำนักงาน ปปง. สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันนี้ จึงเป็นไปเพื่อประสานความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ อันเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้สามารถดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็วและเข้มข้นมากขึ้น

ด้าน ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียนในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องปรามและสนับสนุนให้มีการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนที่มีต่อตลาดทุนไทย

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการหารือและประสานการทำงานร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงาน ปปง. รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด อันนำมาสู่การลงนามบันทึกความตกลงของทั้ง 3 หน่วยงาน เพื่อประสานความร่วมมือในการป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ในวันนี้ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการกำกับดูแลตลาดทุนไทย โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อมั่นว่า การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งของตลาดทุนไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป

Message us