
เมื่อวันที่ 12 มกราคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานมอบวุฒิบัตรและกล่าวโอวาทให้กับผู้ผ่านการฝึกอบรมโครงการศึกษาอบรมวิทยากร เพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 1 โดยได้รับเกียรติจากนายกองเอก ธารณา คชเสนี นายหมวดตรี น้ำเพ็ชร คชเสนี สัตยารักษ์ ดร.ลักษิกา เจริญศรี ร่วมเป็นวิทยากร โดยมี ผู้เข้าร่วมการศึกษาอบรม จำนวนรวม 200 คน ร่วมรับฟัง ณ หอประชุมพระยาสัจจา ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนชลบุรี ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับพี่ ๆ น้อง ๆ ผู้ผ่านการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยรุ่นแรกทุกท่าน รวมถึงคณาจารย์ผู้เติมแสงสว่างให้กับผู้ที่เป็นความหวังของประเทศชาติที่จะไปช่วยให้พี่น้องประชาชนคนในชาติของเราได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของแต่ละแห่ง ที่เราเรียกได้ว่าทุกท่านได้มาเป็น “ศิษย์ที่ดีของครู” และจะกลับไปทำสิ่งที่ดีให้กับประเทศชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ ทุกคนคือคนสำคัญ เพราะท่านเป็นคนที่มีจิตใจรักชาติ สนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการลุกขึ้นมาเป็น “จิตอาสา” ไม่ใช่เพียงเพราะตำแหน่งหน้าที่การงาน แต่ได้ลุกขึ้นมาเพื่อทำประโยชน์ให้กับแผ่นดินโดยที่ไม่ต้องมีคนสั่งหรือบอก และ “เรื่องที่ยากยิ่งไปกว่านั้น” คือ การลุกขึ้นมาบอกเล่าเรื่องราวของประเทศชาติ ซึ่งเป็นเรื่องราวของบรรพบุรุษของพวกเรา

ทั้งนี้ แม้การมาเป็นครูจิตอาสาผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยจะเป็นเรื่องยาก เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไกลตัวในวิถีชีวิตประจำวัน ไกลจากหน้าที่การงานของผู้คน แต่เราต้องอาศัยความอดทน เพราะกรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว และเราจะเข็นครกขึ้นภูเขาคนเดียวไม่ได้ แต่ตนมั่นใจว่าการศึกษาอบรมตลอดหลายวันนี้จะทำให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมทุกท่านลุกขึ้นมาเป็น “ขุนศึกแนวหน้า” ในการที่จะรื้อฟื้นบอกเล่าเรื่องราวของบรรพบุรุษไทยผ่านประวัติศาสตร์ชาติไทยให้กับเด็กและเยาวชนไทยในทุกพื้นที่ที่เรามีโอกาส โดยมีภาคีเครือข่ายทั้งในห้องและนอกห้องที่ต้องไปช่วยกันทำให้เกิดการโคลนนิ่ง “ครู ข” ผู้ที่มีจิตอาสา มีใจเปิดกว้างเพื่อที่จะเรียนรู้สิ่งที่พวกเราได้รับการถ่ายทอดมาจากคุณครูวิทยากรมากยิ่งขึ้น เพราะวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยจะทำให้เกิดการหลอมรวมความรู้สึกรู้รักสามัคคี มีความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษผู้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อรักษาเอกราชของชาติไทย พร้อมทำนุบำรุงประเทศชาติให้มั่นคง และเป็นบ้านที่อยู่อาศัยของพวกเรารุ่นแล้วรุ่นเล่าต่อไป

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอขอบคุณท่านคณาจารย์วิทยากรทุกท่าน เพราะทุกคนที่เป็นวิทยากร คือ คุณครูผู้ที่ให้ความรู้อย่างใกล้ชิดกับพวกเรา จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเราจะได้เป็นครูจิตอาสาในการที่จะไปช่วยกันทำให้เกิดการรับรู้เรื่องของประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่เคยได้สัมผัส ดังนั้น ครู ก ทุกท่านจึงเป็นความหวังของกระทรวงมหาดไทยและประเทศชาติในการช่วยกัน “แก้ไขในสิ่งผิด” ทำหน้าที่เป็นผู้ใหญ่ที่รู้เห็นแนะนำสิ่งที่ดีถ่ายทอดไปสู่ลูกหลาน คนในท้องถิ่น ท้องที่ รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ และตนมั่นใจว่าพวกเราทุกคนจะสามารถทำได้ด้วยการสื่อสารสังคมที่ดี นำเอาความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่เพิ่มพูนขึ้น

“กระทรวงมหาดไทยเรามีความตั้งใจว่าหลังจากที่ทุกท่านผ่านการอบรมนี้ไปแล้ว ทุกท่านจะได้ไป “ทำทันที (Action Now)” ด้วยการช่วยกันเผยแพร่สิ่งที่พวกเราตั้งใจไปบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทย ผลักดันกระตุ้นทำสิ่งดีให้เกิดขึ้น สนองพระมหากรุณาธิคุณโดยน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้บรรลุผลสำเร็จได้ คือทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้ในการดำรงชีวิตและการทำงาน ช่วยกันทำให้สิ่งที่เปรียบเสมือน “การเข็นครกขึ้นภูเขา” ในครั้งนี้ พลันสำเร็จให้จงได้ด้วย Passion ความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ร่วมกันสร้างความดี ความมีจิตอาสา เป็นผู้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย “มีใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” เอาหัวใจผลักดันทำให้ร่างกายของเราที่มีขีดจำกัดได้ฝ่าฟันขีดจำกัด ได้ทำความดีอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้มี “ครู ข” “ครู ค” “ครู ง” เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเมื่อคนในชาติมีความรักและความสามัคคี ประเทศชาติก็จะมั่นคง ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในหลักสูตรครูผู้สอนประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งได้กำหนดฝึกอบรม จำนวน 18 รุ่น รุ่นละ 5 วัน กลุ่มเป้าหมายเป็นข้าราชการ พนักงาน บุคลากรในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนพี่น้องประชาชนที่มีความประสงค์เข้ารับการฝึกอบรม รวม 2,190 คน

สำหรับ โครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นในครั้งนี้ เป็นการฝึกอบรมรุ่นแรก มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 127 ท่าน จากพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร ระยอง สระแก้ว จันทบุรี และตราด มีอายุสูงสุด 80 ปี และต่ำสุด 22 ปี ซึ่งตลอดการฝึกอบรมมีกิจกรรมการเรียนรู้แบบหลากหลาย มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการแสดงความคิดเห็น การระดมสมอง การฝึกปฏิบัติ และการนำเสนอ เพื่อเสริมองค์ความรู้ในการถ่ายทอดขยายผลให้กับพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัยในพื้นที่ เพื่อทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคง ประชาชนมีความสุข ผ่านการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยและท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

