
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่โรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านโพธิ์กลาง) เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนภารกิจของเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหารเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ประธานชุมชน ผู้ปกครอง นักเรียน และภาคีเครือข่าย ร่วมให้การต้อนรับและนำตรวจเยี่ยม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจกับนายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร คณะผู้บริหาร สมาชิกสภา พนักงานเทศบาล รวมถึงพี่น้องประชาชนชาวพิบูลมังสาหารทุกคน ในการร่วมกันสร้างสรรค์พัฒนางานด้วยการขับเคลื่อนภารกิจตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาลจนเกิดผลงาน เกิดนวัตกรรมการบริหารจัดการพื้นที่จนทำให้สามารถบริหารงาน และดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ในช่วงเกิดสถานการณ์อุทกภัย จนสามารถผ่านพ้นวิกฤติได้ ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่กระทั่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยม 1 ใน 4 เทศบาลดีเด่นจากบรรดาเทศบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีถึง 7,850 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงทั้งการดูแลพี่น้องประชาชนในยามปกติ ทั้งการพัฒนาด้านการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัย สิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และการส่งเสริมผ้าไทย เป็นต้น

ทั้งนี้ มีดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา หรือ “ดร.จุ๊” นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร เป็นผู้นำคนสำคัญในการบริหารจัดการงานเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร การพัฒนาระบบงานด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้เชิญให้ ดร.จุ๊ ได้ช่วยสนับสนุนงานของกระทรวงมหาดไทยในด้านการพัฒนาระบบงานสารสนเทศ การพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องมือติดตามและประเมินผลการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 อันจะทำให้งานตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ได้รับการติดตามประเมินผล เกิดการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง
“ที่ผ่านมาชาวพิบูลมังสาหาร ได้น้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในด้านการส่งเสริมผ้าไทย มาเป็นเครื่องมือในการช่วยให้ประชาชนมีรายได้จากการขายผ้า ซึ่งรายได้เหล่านั้นถูกนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และครอบครัว ลูก หลาน จึงมั่นใจได้ว่าผ้าไทยจะไม่ถูกทอดทิ้ง ต้องทำให้ครบถ้วนตามพระดำริ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ “ต้นน้ำ” คือ การปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกพืชให้สีธรรมชาติ และเอาฝ้าย เอาไหมมาย้อมสีธรรมชาติ ในส่วน “กลางน้ำ” ได้พระราชทานโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ให้พวกเราช่วยกันรณรงค์ส่งเสริมให้คนทุกเพศ ทุกวัย สวมใส่ผ้าไทย ส่งผลถึง “ปลายน้ำ” โดยตรง คือ เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ส่งผลไปถึงครอบครัว ไปถึงลูกหลาน” นายสุทธิพงษ์กล่าว

ปลัดกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำว่า เป้าหมายสูงสุดไม่ได้อยู่ที่คนทอผ้าเยอะ ๆ แต่จะต้องทำอย่างไรให้หมู่บ้านของเราเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน หรือ Sustainable Village ตามแนวพระดำริ” อันประกอบด้วย ประการที่ 1 หมู่บ้านต้องมีผู้คนอยู่ในศีล ในธรรม รักใคร่สามัคคี ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ไม่มั่วสุมอบายมุข รู้จักรักษาภูมิปัญญาผ้าไทย รวมทั้ง “การจัดตั้งโรงเรียนทอผ้า” เพื่อให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่มีความต้องการศึกษาเรียนรู้เพื่อเสริมทักษะด้านการทอผ้า ให้ครอบคลุมทั้งด้าน บุคลากร (ครู) อุปกรณ์ (กี่ทอผ้า) และขั้นตอน (การทอ การออกแบบ การตัดเย็บ ฯลฯ) ก็จะทำให้เกิดความยั่งยืนในเรื่องทอผ้า
“นอกจากนี้ รัฐบาลมีนโยบายในการให้ทุกพื้นเป็นพื้นที่แห่งความสงบสุข ไม่อยากให้มีคนบ้าจิตวิปลาสจากปัญหายาเสพติด ซึ่งขณะนี้กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครองได้จัดทำรายชื่อผู้เสพยาเสพติดทั่วประเทศ มีจำนวนแสนกว่าคน และจำนวนผู้ค้า โดยให้นายอำเภอประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข การปกครองท้องที่ ช่วยกันเตรียมความพร้อมการดูแลผู้เสพที่แสดงตนสมัครใจเข้ารับการบำบัด สนับสนุนงบประมาณมาทำค่ายบำบัดรักษาในพื้นที่ตำบล/หมู่บ้านใกล้กับบ้านของประชาชน ในทุกตำบล/หมู่บ้าน ช่วยกันทำในสิ่งที่จะทำให้เขากลับมาเป็นคนดีของสังคม โดย นายกรัฐมนตรี จะมอบนโยบายในเรื่องดังกล่าวให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ในวันที่ 24 พ.ย. 65 นี้ ” นายสุทธิพงษ์กล่าว

