พาณิชย์ปลื้มจัดงานมหกรรม SME ไทยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทะลุ 200 ล้าน

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยผลการจัดมหกรรมรวมพลัง SME ไทย (Thailand SME Synergy Expo 2024) ระหว่างวันที่ 19 – 23 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา รวมทั้งหมด 5 วัน ว่า สำเร็จเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้เป็นอย่างมาก เพราะการจัดงานให้กับผู้ว่างงานและผู้ประกอบการให้ SME มืออาชีพให้มีการเติบโตแบบธุรกิจแบบครบวงจร ตามที่ได้กล่าวว่า “มาแต่ตัว มาด้วยรอยยิ้ม มาด้วยใจที่มุ่มมั่นในการประกอบอาชีพ” จากที่เราได้จัดมาทั้ง 5 วัน เราได้จัดองค์กรต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรร่วมกันกว่า 90 หน่วยงานที่พร้อมจะสร้างความเข้มแข็งให้กับ SME ไทย โดยเต็มไปด้วยความรู้ต่างๆ เครื่องมือที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล เงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และทำการค้าที่คัดสรรมาเป็นอย่างดี ตลอดจนการเจรจาธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยภาพรวมการจัดการในครั้งนี้บรรลุเป้าหมายตามที่ได้ตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทำเลการค้ามีผู้สนใจมาจับจองในทำเลที่ตนอยากทำธุรกิจ ธุรกิจแฟรนไชส์มีผู้สนใจ ธุรกิจแฟรนไชส์มีการจับคู่ธุรกิจเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้

ทั้งนี้ ในส่วนของการเสริมทักษะต่างๆ สร้างความเข้มแข็งให้SME มีผู้สนใจทั้งออนไลน์และออฟไลน์เป็นจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าการจัดงานที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเกินเป้าที่วางไว้ อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายที่จะพัฒนา SME ให้เติบโตขึ้น โดยเป้าหมายที่วางไว้ คือ มีส่วนแบ่งในมวลรวมของรายได้จาก 35% เป็น 40% ในปี 2570 และนี่ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า คนไทยได้มีงานมีอาชีพ และมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นแน่นอน

นอกจากนี้ การจัดงาน SME ในครั้งนี้ คนที่มาร่วมงานส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในแถบชานเมืองที่มีทำเลที่สำคัญ ๆ ในภาพรวมกระทรวงพาณิชย์รวมถึงพันธมิตรต่างๆของเราทั้งสภาหอการค้าฯ สภาอุตสากรรมฯ สถาบันการเงิน รวมทั้งเครือข่ายแฟรนไชส์ต่างๆ เราจะขับเคลื่อนออกไปพบกับพวกเขาในจังหวัดที่สำคัญๆ เช่น เชียงใหม่ อุดรธานี สงขลา และชลบุรี ภายในปีนี้”
และที่สำคัญ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มีการหารือร่วมกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งมีนโยบายในการจัดหางานให้กับคนที่ว่างงาน ถือว่าเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงแรงงาน เป้าหมายคือ คนว่างงานและต้องการอาชีพ ดังนั้น การร่วมมือกันทั้งสองกระทรวง จะมีการเชิญชวนคนที่ว่างงานเป็นเข้ามาเป็นลูกจ้าง พนักงานของหน่วยงานหรือบริษัทต่างๆ รวมทั้งเป็นเจ้าของธุรกิจ สำหรับคนที่อยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง

“จากความสำเร็จในวันนี้ ผมขอขอบคุณหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชนกว่า 90 หน่วยงานที่ร่วมกันจัดงาน ‘มหกรรมรวมพลัง SME ไทย’ ตลอดทั้ง 5 วัน ทำให้งานฯ สำเร็จลุล่วงเป็นที่น่าพอใจ เป็นการส่งกำลังใจที่ดีแก่ผู้ประกอบการ SME ไทย ให้สามารถดำเนินธุรกิจด้วยความมั่นใจและนี่คือจุดเริ่มต้นของกระทรวงพาณิชย์ที่วางพื้นฐานให้กับคนที่ว่างงานหรือคนที่ต้องการอาชีพอิสระ หากต้องการทำเลที่ดี หรือขาดเงินทุน ท่านประสานมาได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพื่อจะจัดหาให้ท่าน ซึ่งคือหน้าที่ที่เราจะประสานอย่างต่อเนื่อง”รมช.พาณิชย์กล่าว

นายนภินทร กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรายังมีโครงการดี ๆ สำหรับคนที่ว่างงาน สำหรับคนที่ต้องการอาชีพ ต้องการมีรายได้เสริม ต้องการแฟรนไชส์ โดยเฉพาะธุรกิจแฟรนไชส์อย่างเช่นธุรกิจอาหาร ผมเชื่อครับว่าเป็นแฟรนไชส์ที่มีคุณภาพมีเอกลักษณ์มีวัตถุดิบที่ดีเพื่อให้ท่านได้นำไปค้าขาย นอกจากนี้ ทำเลที่ตั้งธุรกิจผมยืนยันว่าเป็นทำเลที่ดี สามารถทำการค้าการขายได้อย่างมีกำไร เนื่องจากกรมพัฒนาธุรกิจได้มีการต่อรองราคาทำเลค่าเช่า และนอกจากทำเลการค้าในพื้นที่ใดที่ลดลง สำนักงานพาณิชย์จะหาทำเลเพิ่มขึ้นให้เพื่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้มีโอกาสในการทำค้าขายในจังหวัดของตัวเอง และอย่างที่กล่าวมา หลังจากที่ท่านเป็นเจ้าของธุรกิจแล้ว ท่านไม่ต้องห่วงกระทรวงพาณิชย์ยังมี SMS คลินิกที่ช่วยดูแลประคับประคองให้ท่านประสบความสำเร็จให้ท่านมีรายได้เลี้ยงดูตัวเองเลี้ยงดูครอบครัวและยืนอยู่บนสังคมอย่างสง่างาม

สำหรับ ข้อมูลผลการจัดงานการเจรจาธุรกิจและการจำหน่ายสินค้าภายในงานที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 200 ล้านบาท ประกอบด้วย

  1. การเจรจาจับคู่ธุรกิจภายในงาน เกิดมูลค่าการเจรจารวมทั้งสิ้น 193,075,878 บาท แบ่งเป็น การเจรจาธุรกิจของ SME ทั้งที่เจรจาซื้อสินค้าทันทีและการซื้อสินค้าภายใน 1 ปี รวม 522 คู่เจรจา ยอดรวม 18,614,588 ล้านบาท โดยธุรกิจที่มียอดการเจรจาสูงสุด 3 อันดับแรก คือ 1) อาหารและเครื่องดื่ม 2) ผ้าและเครื่องแต่งกาย และ 3) สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ขณะที่ การเจรจาซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ รวม 136 คู่เจรจา ยอดรวม 174,461,290 บาท โดยแฟรนไชส์ที่มียอดเจรจาสูงสุด 3 อันดับแรก คือ 1) ประเภทสะดวกซัก 2) ประเภทการศึกษา คณิตคิดด้วยภาพ และ 3) ประเภทการศึกษา ภาษาอังกฤษ
  2. การจำหน่ายสินค้าและบริการภายในงาน มีผู้ประกอบการ SME เข้าร่วมจำหน่ายสินค้าและบริการรวม 308 คูหา ยอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 7,230,845 บาท แบ่งเป็น คูหาของ SME 248 คูหา ยอดจำหน่าย 6,590,574 บาท โดยสินค้าที่ขายดี3 อันดับแรก คือ 1) ผลิตภัณฑ์เสื้อคลุมใยฝ้ายทอมือ 2) ผลิตภัณฑ์ผ้าไหม (ผ้าผืน) และ 3) ผลิตภัณฑ์กระเป๋าแปรรูปจากต้นกล้วย ยอดจำหน่ายปลีกแฟรนไชส์ 60 คูหา 640,271 บาท โดยแฟรนไชส์ยอดขายปลีกที่ขายดี 3 อันดับแรก คือ 1) แฟรนไชส์อาหาร ก๋วยเตี๋ยว 2) แฟรนไชส์อาหาร เฟรนฟรายส์ทอด และ 3) แฟรนไชส์อาหาร ลูกชิ้นทอ
  3. ทำเลการค้า ที่มีให้เลือกกว่า 19,000 แห่ง ภายในงานมีการนำเสนอทำเลการค้าอัตราพิเศษจากเจ้าของพื้นที่ 10 ราย เช่น สถานีบริการน้ำมัน ห้างค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า และตลาดชุมชน มีผู้สนใจเข้าหาทำเลการค้า จำนวน 793 ราย โดยทำเลที่ได้รับความสนใจสูงสุด 3 อันดับแรก คือ 1) ตลาดชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวน 497 ราย สนใจอัตราค่าเช่าตั้งแต่ 2,000 -10,000 บาท / เดือน สินค้าที่จะจำหน่ายเป็นประเภทอาหาร/ผักผลไม้ 2) บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) จำนวน 113 ราย สนใจเพกเกจปลอดค่าเช่าตลอดสัญญา (ชำระเฉพาะค่าสาธารณูปโภค) และ อัตราค่าเช่า 5,000 – 25,000 บาท / เดือน สินค้าที่จะจำหน่ายเป็นประเภทธุรกิจแฟรนไชส์ 3) บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเต็ม จำกัด จำนวน 34 ราย สนใจทำเลในห้างฯ ส่วนลดเงินประกันสัญญาเช่าเหลือ 2 เดือนจาก 4 เดือน อัตราค่าเช่า 7,000 – 25,000 บาท / เดือน สินค้าที่จะจำหน่ายเป็นประเภทธุรกิจแฟรนไชส์ อาหารและเครื่องดื่ม สวนสนุก และ นวดแผนไทย
  4. การให้บริการสินเชื่ออัตราพิเศษจากสถาบันการเงินและหน่วยงานพันธมิตร เช่น ธนาคาร บริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัย รวม 18 หน่วยงาน ที่ได้ร่วมกันนำเสนอสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษและมอบเงื่อนไขพิเศษแก่ SME และ ประชาชนทั่วไปที่เข้าขอคำปรึกษาและขอสินเชื่อภายในงานฯ โดยตลอดการจัดงาน 5 วัน มีผู้สนใจขอสินเชื่อ จำนวน 672 ราย วงเงินการขอสินเชื่อ 1,263,030,000 บาท โดยจำนวนนี้ขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำประกันสินเชื่อรวม 75,000,000 บาท
Message us