“พระราชินีภูฏาน”เสด็จฯพระราชทานแจกันดอกไม้และลงพระนามเยี่ยม”เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ”

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม สมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุกแห่งภูฏาน เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานแจกันดอกไม้ที่หน้าพระรูปพร้อมลงพระนามเยี่ยมพระอาการประชวร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยมีคณะผู้บริหารโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เฝ้าฯรับเสด็จ

โอกาสนี้ สมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุกแห่งภูฏาน ทรงลงพระนามเยี่ยมในสมุดลงพระนามความว่า “ถึง…เจ้าหญิงอันเป็นที่รัก และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก และข้าพเจ้า สมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน พร้อมด้วยพสกนิกรชาวภูฎาน ขออวยพรอย่างจริงใจให้ท่าน ทรงหายจากอาการพระประชวรโดยเร็ว และมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง”
ลงพระนามาภิไธย สมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน

การเสด็จพระราชดำเนินมาไทยของสมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา เพื่อพระราชทานแจกันดอกไม้ที่หน้าพระรูปพร้อมลงพระนามเยี่ยมพระอาการประชวร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาในครั้งนี้ สะท้อนความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับภูฏาน

ย้อนกลับไปในวันฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปี 2549 มกุฏราชกุมารจิกมีเสด็จมาไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะ ราชอาณาจักรภูฏานมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับนานาประเทศ แต่มีเพียง 4 ประเทศที่มีสถานเอกอัครราชทูตภูฏานโดยมีไทยเป็นหนึ่งในนั้น อีก 3 ประเทศคืออินเดีย คูเวต และบังคลาเทศ และภูฏานมีสำนักงานถาวรผู้แทนคณะทูตที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ ภูฏานและไทยยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเรื่อยมาทั้งทางด้านการศึกษา การพัฒนา การท่องเที่ยว และเกษตรกรรม ไอที รวมทั้งด้านธุรกิจ เนื่องจากมีนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนทำกิจการโรงแรม ก่อสร้างและอาหารในภูฏาน
ทั้งนี้ไทยและภูฏานมีความคล้ายคลึงกันในด้านวัฒนธรรม ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจ การปกครองของภูฏานแสดงถึงความใกล้ชิดของสถาบันกับประชาชนในรูปแบบประชาธิปไตย ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งใกล้เคียงกับไทย

ภูฏานเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเรื่องนโยบายความสุขมวลรวมนานาชาติ หรือ Gross National Happiness (GNH) เป็นแนวคิดที่มีขึ้นกว่า 40 ปี เพื่อต้องการเน้นการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ดูแลป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติ

ภูฏานได้ชื่อว่าเป็น “ราชอาณาจักรแห่งมังกรสายฟ้า” เป็นประเทศที่งดงามบนเทือกเขาหิมาลัย และเป็นประเทศที่น้อมนำนโยบายความสุข เพื่อเสริมสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้แก่ประชากรกว่า 7 แสนคน ในประเทศที่เป็นที่เรียกขานว่า “ดินแดนแห่งความสุข”

Message us