พรรคประชาชนโหมหาเสียงอย่างหนักมุ่งยึดนายกอบจ.ราชบุรี

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ จ.ราชบุรี แกนนำพรรคประชาชน นำโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินสายพบปะประชาชนในหลายพื้นที่ของ จ.ราชบุรี ช่วยหาเสียงให้กับ นายชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.ราชบุรี พรรคประชาชน เบอร์ 1 พร้อมล้อมวงคุยเกษตรกรเลี้ยงหมูรายย่อย รับฟังปัญหาราคาตกต่ำ เสนอแนวทางเพิ่มรายได้ และลดต้นทุน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงเช้านายณัฐพงษ์ และ น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กทม. เขต 28 พรรคประชาชน ได้ร่วมหาเสียงกับนายชัยรัตน์ ที่ตลาดนัดวัดอมร อ.ดำเนินสะดวก หาเสียงสนับสนุนกับประชาชนที่มาร่วมจับจ่ายซื้อขายในวันจ่ายเทศกาลสารทจีน โดยมี ประชาชนและพ่อค้าแม่ขายให้ความสนใจในนโยบาย ตลอดจนเข้ามาร่วมพูดคุยให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก


จากนั้น ในช่วงบ่าย นายชัยรัตน์ พร้อมด้วย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ช่วยหาเสียงพรรคประชาชน และ นายณรงเดช อุฬารกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ร่วมวงพูดคุยกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรใน จ.ราชบุรี เพื่อรับฟังปัญหาที่ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยต้องเจอในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาราคาหมูที่นิ่งมานานเมื่อเทียบกับต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ก็ต้องเผชิญปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (AFS) ต่อเนื่องตามมาด้วยปัญหาหมูเถื่อน ซึ่งทั้งสองปัญหาแม้จะคลี่คลายลงไปแล้ว แต่ก็ต้องมาเผชิญกับสถานการณ์ราคาในปัจจุบันอีก


หลังการรับฟังปัญหา นายพิธาได้ซักถามเพิ่มเติมในหลายรายละเอียดพร้อมเสนอแนวคิดในสิ่งที่ อบจ. สามารถมีบทบาทได้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย โดยระบุว่าจากสถานการณ์ราคาในปัจจุบัน สิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ก็คือการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ โดยสิ่งที่ทำได้ในระยะสั้นและระยะกลางเลยก็คือการเร่งเพิ่มรายได้ ส่วนเรื่องการลดต้นทุนนั้นเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่และอำนาจผูกขาด ที่ต้องอาศัยการแก้ปัญหาในโครงสร้างระดับใหญ่ต่อไป ซึ่งเพื่อน สส.พรรคประชาชนของตน กำลังออกแบบผลักดันการแก้กฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ที่เปิดช่องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถมีเงื่อนไขจัดซื้อจัดจ้างกับคู่สัญญาที่เป็นเอสเอ็มอีได้ง่ายกว่าบริษัทรายใหญ่ เป็นต้น


ทางด้านนายชัยรัตน์ ระบุว่าหนึ่งในนโยบายที่ตนและพรรคประชาชนนำเสนอสำหรับ อบจ.ราชบุรี คือเรื่องของการหาวัตถุดิบอาหารกลางวันมาจัดสรรให้กับหน่วยงานในสังกัด อบจ. ที่มีความต้องการ โดย อบจ.สามารถเข้ามาอุดหนุนงบประมาณได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือโรงพยาบาล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มฐานลูกค้าให้กับเกษตรกรโดยตรง และ อบจ.เองก็ยังสามารถมีบทบาทได้มากกว่านั้น ไม่ว่าจะด้วยการร่วมลงทุน สร้างโรงงานแปรรูป หรือการสนับสนุนในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น



นอกจากนี้ ที่ผ่านมาตนและทีมงานได้เคยพูดคุยกับผู้ประกอบการหอการค้ารุ่นใหม่ (YEC) ใน จ.ราชบุรี พบว่ามีแนวคิดที่น่าสนใจในการทำให้ราชบุรีมีหมูสายพันธุ์เฉพาะเป็นของราชบุรีเอง ส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อย หรือผู้เลี้ยงหมูใต้ถุนบ้าน พัฒนาหมูของตัวเองให้มีคุณภาพแบบพรีเมียม มีอัตลักษณ์แบบเดียวกับคุโรบุตะของญี่ปุ่น ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่มีแนวคิดและได้ทำการบ้านมาพอสมควรแล้ว แต่ยังขาดการเชื่อมโยงกับเกษตรกรโดยตรง ซึ่งจุดนี้เองเป็นสิ่งที่ อบจ. สามารถเข้ามามีบทบาทในการประสานเชื่อมโยงหลายองค์กรและหน่วยงานให้มารวมกันได้

Message us