
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยในการเดินทาง ตนจึงใช้เวลาว่างในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ลงพื้นที่บริเวณจุดตัดทางรถไฟแยกอโศก เพื่อดูความเรียบร้อยของหลังคาที่พักผู้โดยสารบริเวณที่หยุดรถอโศก

ทั้งนี้ หลังจากที่ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการสร้างหลังคาคลุมชานชาลากันแดด-ฝนบริเวณที่หยุดรถอโศกเสร็จเรียบร้อย พร้อมใช้งานแล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและผู้ใช้บริการ ซึ่งจะได้ใช้งานเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – พญาไท – มักกะสัน -หัวหมาก และช่วงบางซื่อ – หัวลำโพง (Missing link) รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแล้วเสร็จ จากนี้จะสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาสร้างหลังคาคลุมชานชาลากันแดด-ฝน บริเวณที่หยุดรถพญาไท หลังประชาชนผู้ใช้บริการได้เรียกร้องเข้ามาเป็นจำนวนมากด้วย

จากนั้น ได้เดินทางโดยขบวนรถชานเมืองที่ 367 กรุงเทพ – ชุมทางฉะเชิงเทรา เพราะต้องการที่จะเห็นสภาพการเดินทางจริงของพี่น้องประชาชนที่มาใช้บริการรถไฟว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งตรวจเยี่ยมและรับทราบปัญหาอุปสรรคต่างๆ จากหน่วยงานของการรถไฟในบริเวณสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา อาทิ ที่ทำการของฝ่ายการช่างโยธา ฝ่ายการช่างกล และ ฝ่ายเดินรถ ที่ต้องการให้ดำเนินการแก้ไขด้วย ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง หลังได้รับรายงานว่า เสาตอม่อสะพานรถไฟทางคู่ พิกัดตรอกข้าวหลาม ที่ กม.63/7-9 (ทางล่อง) ระหว่างสถานีฉะเชิงเทรา – สถานีดอนสีนนท์ ผิวคอนกรีตบริเวณเสาตอม่อสะพานรถไฟมีรอยแตกบริเวณโคนเสาจากพื้นดินขึ้นมาไม่เกิน 1 เมตร

“เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรายงานว่า ที่ผ่านมาวิศวกรของการรถไฟฯ พร้อมด้วยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านคอนกรีตจากสถาบันกลาง เข้าตรวจสอบที่หน้างานร่วมกับนายก อบจ.ฉะเชิงเทราแล้ว รวมถึงทีมช่างได้เข้าพื้นที่และล้อมผ้าใบบลูชีทบริเวณจุดที่ดำเนินการซ่อมแซมผิวคอนกรีตเสาตอม่อแล้ว ผลตรวจสอบสภาพคอนกรีตและเหล็กเสริมยังอยู่ในเกณฑ์ดี ได้สั่งการให้เร่งทดสอบประเมินค่ากำลังอัดประลัยของคอนกรีตบริเวณเสาตอม่อคอนกรีตเพิ่มเติม รวมทั้งหาสาเหตุที่เกิดขึ้น แล้วรายงานเป็นเอกสารกลับมาให้ทราบครบถ้วนตามขั้นตอนตามหลักวิศวกรรมต่อไป” ผู้ว่าการรถไฟฯ กล่าว

ขณะที่ เมื่อวันที่ 12 เมษายน ซึ่งเป็นวันหยุดวันแรกของเทศกาลสงกรานต์ 2568 มีผู้โดยสารเดินทางโดยรถไฟทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 91,484 คน แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้า 40,316 คน ขาออก 51,168 คน สำหรับเส้นทางที่มีผู้โดยสารเดินทางหนาแน่นที่สุด คือ สายใต้ มีผู้โดยสารเดินทางจำนวน 33,115 คน รองลงมาคือสายตะวันออกเฉียงเหนือ 24,575 คน สายเหนือ 16,213 คน สายตะวันออก 10,649 คน สายมหาชัย 6,000 คน และสายแม่กลอง 932 คน ซึ่งภาพรวมจำนวนขบวนรถและตู้โดยสารเพียงพอ ไม่พบว่ามีผู้โดยสารตกค้าง การจำหน่ายตั๋วยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ขณะเดียวกัน ในวันนี้ (13 เมษายน ) คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการกว่า 105,733 คน แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้า 34,892 คน และผู้โดยสารขาออก 70,841 คน ทั้งนี้ การรถไฟฯ ยังให้บริการเดินขบวนรถประจำกว่า 210 ขบวน พร้อมจัดขบวนรถพิเศษช่วยการโดยสาร จำนวน 5 ขบวน เสริมขาเข้า 2 ขบวน และเสริมขาออก 3 ขบวน ในเส้นทางสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ ดังนี้
- ขบวน 978 อุบลราชธานี – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ออกเวลา 06.00 น. ถึงเวลา 15.20 น.
- ขบวน 5 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ –เชียงใหม่ ออกเวลา 19.05 น. ถึงเวลา 07.50 น.
- ขบวน 983 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – ยะลา ออกเวลา 19.30 น. ถึงเวลา 13.10 น.
- ขบวน 973 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – นครราชสีมา ออกเวลา 09.30 น. ถึงเวลา 13.10 น.
- ขบวน 974 นครราชสีมา –สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ออกเวลา 14.10 น. ถึงเวลา 17.40 น.