“ปลัดเก่ง”เร่งภารกิจถ่ายโอนรพ.สต.ให้อบจ.ย้ำการบริการต้องครอบคลุมทั่วถึง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ครั้งที่ 2/2566 โดยมี คณะกรรมการอำนวยการฯ ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนตำบล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการอำนวยการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ในวันนี้ เป็นการติดตามความคืบหน้าตามมติที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการถ่ายโอน เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 ซึ่งได้มีการหารือและเสนอแนะแนวทางพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่จะทำให้การถ่ายโอนหน้าที่ในการดูแลด้านสาธารณสุขที่ครอบคลุมทั้งการป้องกันและการรักษาผู้ป่วยเบื้องต้นก่อนที่จะส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ และโรงเรียนแพทย์ เพื่อให้บริการพี่น้องประชาชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ เข้ารับบริการได้อย่างครอบคลุมเท่าเทียม ยังผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“การผลักดันให้การขับเคลื่อนเรื่องถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวพันกับคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนในการที่จะได้รับบริการด้านสาธารณสุขทุกด้านที่ส่งผลให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพอนามัยของคนทั่วไปอย่างเดียว แต่เรื่องสำคัญที่เราจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่เริ่มแรก คือ ภาวะคลอดก่อนกำหนดของเด็กทารกที่เกิดใหม่ที่ส่งผลต่อความสมบูรณ์ของร่างกาย ตลอดจนเรื่องการมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ปัญหาการเจ็บป่วย และโรคต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อพัฒนาการการเจริญเติบโต จึงจำเป็นที่เด็กเล็กจะต้องได้รับการพัฒนาทางด้านร่างกาย สมอง จิตใจและอารมณ์ ซึ่งเรายังขาดการบริการ การดูแล ขาดการปลุกเร้าให้ผู้ปกครอง ให้คุณพ่อ คุณแม่ของเด็กเหล่านี้ได้ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องวัคซีนป้องกันโรค เรื่องการเลี้ยงดู การได้รับสารอาหารที่เหมาะสม และความรู้เรื่องสาธารณสุขมูลฐานที่จะช่วยดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนได้อย่างใกล้ชิด” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวอย่างความภาคภูมิใจที่เป็นผลสำเร็จของการรับโอนภารกิจ รพ.สต. มาขับเคลื่อนจนเกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน คือ การดำเนินงานของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ ที่ภายหลังจากรับการถ่ายโอน รพ.สต. มาอยู่ในสังกัดแล้ว ได้สร้างความพึงพอใจให้กับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก แม้ว่าในระหว่างขั้นตอนการถ่ายโอนมานั้นได้ติดขัดปัญหาต่าง ๆ มากมาย แต่ท่านนายก อบจ.เชียงใหม่ ก็ได้ผลักดันและขับเคลื่อนให้ผ่านไปได้ เช่น การเปิดสอบสรรหาบุคลากรในตำแหน่งที่ไม่ได้โอนย้ายมาด้วยเพื่อให้มีระบบบริการงานบุคคลที่มีประสิทธิภาพ การประสานหาแพทย์เฉพาะทางด้านต่าง ๆ ตามเงื่อนไขกระทรวงสาธารณสุข มาจัดตารางเวรหมุนเวียนไปในแต่ละ รพ.สต. ซึ่งแพทย์เองก็มีความสุขที่ได้ไปพบเจอ ไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมนำระบบ Telemedicine ซึ่งได้มีการทดลองใช้มาระยะหนึ่งแล้วกับพี่น้องชาวเขา เช่นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา ซึ่งได้ผลดีที่สามารถเป็นต้นแบบต่อไปได้ นอกจากนี้ ยังมี อบต.ดอนแก้ว จ.เชียงใหม่ ที่ได้รับรางวัลเรื่องระบบดูแลสุขภาพพลานามัยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ทั้งเรื่องวารีบำบัดหรือแพทย์แผนไทย ซึ่ง นายกอบต.ดอนแก้วสามารถทำออกมาได้ดี เป็นต้น จึงอยากจะเชิญชวนทุกท่านได้ลงไปยัง อปท.ต้นแบบเหล่านี้ เพื่อจะได้ร่วมกันให้กำลังใจท่านผู้บริหารท้องถิ่นที่ตั้งใจทำเรื่องนี้ ได้ขยายผลเผยแพร่ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับสิ่งที่ดีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ รพ.สต. ได้อยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง

ด้าน รศ.ดร.อัชกรณ์ วงศ์ปรีดี จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ รศ.ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ข้าราชการและภาคีเครือข่ายทุกคนต้องมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ที่รับผิดชอบของตัวเองเพื่อขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้ “โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้สำเร็จได้” ด้วยการดำเนินการตามแผนบริการสุขภาพ (Service Plan) ที่มุ่งเน้น Area-based การบริการสุขภาพแบบเครือข่ายที่ได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทและความจำเป็นของพื้นที่ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการจัดบริการสุขภาพและออกแบบโครงสร้างและกรอบอัตรากำลัง (Technology-enhanced Management) บุคลากรได้รับเงินค่าตอบแทนที่เหมาะสม มีเส้นทางความก้าวหน้าทางอาชีพที่ชัดเจนและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย และดำเนินการตามข้อเสนอเชิงนโยบาย เช่น การจัดสรรงบประมาณเพื่อบรรจุข้าราชการที่เป็นบุคลากรสายวิชาชีพให้ครบถ้วนตามกรอบอัตรากำลังที่ระบุไว้ การสรรหาบุคลากรสายวิชาชีพอื่นที่จำเป็นต่อการจัดบริการตามแผนบริการสุขภาพที่เป็นไปตามบริบทและความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ เช่น นักกิจกรรมบำบัด อาชีวบำบัด เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อนภารกิจ รพ.สต. ที่ได้รับการถ่ายโอนให้แก่ อบจ. ประสบความสำเร็จและเกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน

ด้าน นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อปท. ต้องส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้มีพื้นที่สร้างสรรค์ เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ ที่จะช่วยให้เด็กกลุ่มนี้ที่ห่างไกลยาเสพติดหรือสิ่งมัวเมาอื่น ๆ ซึ่งเราต้องดูแลเยาวชนตั้งแต่เด็ก ๆ ตั้งแต่ยังไม่ประสีประสา ซึ่ง “เรื่องสุขภาพถือเป็นเรื่องสำคัญ” หากเด็ก ๆ ได้ออกกำลังกาย ก็จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลโรคภัย งบประมาณด้านสุขภาพก็ลดลงไปด้วย จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนทุกหน่วยงานมาร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เต็มกำลังทำหน้าที่คนไทย ส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพพลานามัยที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งผลให้ครอบครัวดี ชุมชนดี สังคมดี และประเทศชาติพัฒนาได้ดียิ่งขึ้นต่อไป

Message us