ปลัดมหาดไทยอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานทอดถวายวัดหน้าพระเมรุฯ

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่พระอุโบสถ วัดหน้าพระเมรุราชิการาม วรวิหาร ตำบลลุมพลี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานอัญเชิญผ้าพระกฐิน ประจำปี 2566 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่ง นายสุทธิพงษ์ และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ขอรับพระราชทานไปทอดถวายยังที่ชุมนุมสงฆ์วัดหน้าพระเมรุราชิการาม วรวิหาร

โอกาสนี้ นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นางวัชราภรณ์ รุ่งสาคร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายประทีป การมิตรี นายกกชัย ฉายรัศมีกุล นายไพรัตน์ เพชรยวน นายธีรศักดิ์ โฉมศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ ผู้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนบริษัท ห้างร้าน และประชาชนผู้มีจิตศรัทธา เข้าร่วมในพิธีฯ โดยมียอดเงินพระกฐินพระราชทานในครั้งนี้ เป็นเงินทั้งสิ้น 2,460,151 บาท

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า นับเป็นสรรพสิริมงคลของพสกนิกรชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ได้มีโอกาสร่วมโดยเสด็จพระราชกุศลฯ อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานมาทอดถวายยังพระอาราม วัดหน้าพระเมรุราชิการาม วรวิหาร ทั้งนี้ เงินปัจจัยที่พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันทำบุญโดยเสด็จพระราชกุศลฯ ในวันนี้ ทางวัดจะนำไปสมทบทุนบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะ เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของคณะสงฆ์ สามเณร อีกทั้งเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและโบราณสถานสำคัญของชาติ เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวของพุทธศาสนิกชน และเป็น Soft Power ในการหนุนเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยสำหรับบุญกุศลในการถวายผ้าพระกฐินพระราชทานในครั้งนี้ ขอน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์

สำหรับ วัดหน้าพระเมรุราชิการาม วรวิหาร เป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ได้ถูกพม่าทำลายและยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาอยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระอุโบสถมีขนาดยาว 50 เมตร กว้าง 16 เมตร เป็นศิลปะอยุธยาตอนต้น ตั้งอยู่ริมคลองสระบัวด้านทิศเหนือของคูเมือง (เดิมเป็นแม่น้ำลพบุรี) ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง มีชื่อเดิมว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” ที่ตั้งของวัดนี้แต่เดิมคาดว่าเป็นสถานที่สำหรับสร้างพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหา กษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งสมัยอยุธยาตอนต้น ต่อมาจึงได้สร้างวัดขึ้น

ตามตำนานเล่าว่าพระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างวัดนี้ เมื่อ พ.ศ. 2046 ซึ่งวัดแห่งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเมื่อครั้งทำศึกกับพระเจ้าบุเรงนองได้มีการทำสัญญาสงบศึก โดยในปี พ.ศ. 2106 ได้สร้างพลับพลาที่ประทับขึ้นระหว่างวัดหน้าพระเมรุกับวัดหัสดาวาส ต่อมาสร้างขยายออกโดยเพิ่มเสารับชายคาภายนอกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หน้าบันเป็นไม้สักแกะสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหยียบเศียรนาคและมีรูปราหูสองข้างติดกับเศียรนาค

หน้าต่างเจาะเป็นช่องยาวตามแนวตั้ง เสาเหลี่ยมสองแถว ๆ ละแปดต้น มีบัวหัวเสาเป็นบัวโถแบบอยุธยา ด้านบนประดับด้วยดาว เพดานเป็นงานจำหลักไม้ลงรักปิดทอง ส่วนลายแกะสลักบานประตูพระวิหารน้อยเป็นลายแกะสลักด้วยไม้สักหนา แกะสลักจากพื้นไม้ ไม่มีการนำชิ้นส่วนที่อื่นมาติด ต่อเป็นลายซ้อนกันหลายชั้น พระประธานในอุโบสถสร้างปลายสมัยอยุธยาเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทรงเครื่องแบบกษัตราธิราช มีนามว่า “พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ” จัดเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และมีความสมบูรณ์งดงามมาก สูงประมาณ 6 เมตร หน้าตักกว้างประมาณ 4.40 เมตร

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปฏิสังขรณ์วัดนี้โดยรักษาแบบอย่างเดิมไว้และได้เชิญพระพุทธรูปศิลาสีเขียวหรือพระคันธารราฐประทับนั่งห้อยพระบาทสมัยทวาราวดีจากวัดมหาธาตุมาไว้ในวิหารสรรเพชญ์ (วิหารน้อย) ซึ่งมีความยาว 16 เมตร กว้างประมาณ 6 เมตร อยู่ด้านข้างพระอุโบสถ พระพุทธรูปศิลาแบบนั่งห้อยพระบาทสมัยทวาราวดีนี้ นับเป็น 1 ใน 5 องค์ที่มีอยู่ในประเทศไทย

Message us