ประชาชนแห่ร่วมฟังวงเสวนารธน.ฉบับใหม่หน้าตาเป็นอย่างไรแน่นสภาฯ

เมื่อเย็นวันที่ 10 ธันวาคม ที่รัฐสภา มีการจัดงานวันฉลองรัฐธรรมนูญประจำปี 2566 “ร่วมก้าวย่างบนประชาธิปไตย สู่เส้นชัยรัฐธรรมนูญ” ช่วงหนึ่งมีการจัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร“ มีผู้เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล , นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย , นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ , นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคพรรคก้าวไกล, นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้แทนกลุ่มไอลอว์ โดยมี นายเกรียงไกร หอมจันทร์เทศ เป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้ มีประชาชนเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เราตั้งเป้าไว้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างเพื่อให้เห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ทำเพื่อประชาชน เป็นไปเพื่อประชาชน หากเป็นเช่นนี้แล้วมีส.ส.ร.คิดว่าเราจะประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับส.ส.ร.ว่าจะยกร่างอย่างไร แต่เชื่อว่าหากกระบวนการมีส.ส.ร.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนมายกร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นประชาธิปไตยแน่นอน ขณะนี้หลายฝ่ายพยายามอยู่ หากไม่สำเร็จ ไม่สามารถร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้นั้น ตนคิดว่าจะย่ำอยู่กับที่และใช้ร่างฉบับนี้ก็จะไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน

นายชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องมีการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 256 ที่ปัจจุบันเราติดกับอยู่กับมาตรานี้ เพราะเวลาจะแก้ไขมาตรานี้เราติดอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุว่าต้องมีเสียงของสว. สนับสนุน 1 ใน 3 ที่ผ่านมาจึงจะเห็นว่าเรายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปหลายประเด็น แต่ท้ายที่สุดก็ไม่เคยสำเร็จสักครั้งด้วยเหตุผลว่าเสียงของสว. ไม่ถึง 1 ใน 3 ตนคิดว่าเราต้องสกัดมาตรา 256 ออกไปเพื่อทำให้รัฐธรรมนูญนี้เป็นพลวัตและสามารถแก้ไขได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาเรื่องกระบวนการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ รวมถึงการถ่วงดุลอำนาจขององค์กรอิสระ ฉะนั้น ที่มาขององค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาคือปัญหาของประเทศว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรม ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถตรวจสอบองค์กรอิสระ ศาลได้ หากวินิจฉัยอะไรออกมา คนนั้น คนนี้ก็พ้นจากตำแหน่ง เพราะเราไปมอบอำนาจให้เขาจนไม่สามารถถ่วงดุลอำนาจกันได้

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า การปรับองค์กรในรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความสมดุลของอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ ตนเห็นด้วยกับแนวคิดของนักวิชาการหลายคนว่าต่อไปนี้องค์กรอิสระควรจะมีที่มาจากรัฐสภา อย่างไรก็ตาม เรามีรัฐธรรมนูญผ่านมาหลายฉบับ แต่มีจำนวนมากที่มาจากรัฐประหาร เกิดจากการตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหาร กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาธิปไตยมีจำนวนน้อยกว่ารัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหาร ฉะนั้น รัฐประหารจึงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศและเป็นอุปสรรคสำคัญของประชาธิปไตย เราต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าห้ามให้มีการรัฐประหาร หากใครกระทำรัฐประหารไม่มีอายุความ ไม่มีการนิรโทษกรรม สำคัญที่สุดคือต้องทำให้ศาลและกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถยอมรับรัฐประหารได้ และเรื่องรัฐประหารต้องหมดไป

นายชูศักดิ์ ยังกล่าวถึงกระบวนการการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยว่า ต้องมีการทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าสมควรจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ความเห็นของตนดั่งเดิมเห็นเหมือนกับที่นายชัยธวัช ระบุว่าตั้งมีการประชามติ 3 ครั้ง คือถามไปตอนที่ยังไม่มีร่างเข้าสู่สภาฯ แต่เมื่อประชาชนเห็นควรจึงมาแก้มาตรา 256 เพื่อให้มีส.ส.ร. จากนั้นก็ถามประชาชนอีกครั้ง แต่ขณะนี้มีความเห็นของฝ่ายหนึ่งที่ไปดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดแล้วพบว่าประเด็นเรื่องการทำประชามติกี่ครั้งนั้น เราไม่เคยถามศาลรัฐธรรมนูญเลย และยังเป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันอยู่ว่าจะทำประชามติทั้งหมดกี่ครั้ง ซึ่งหากทำประชามติ 2 ครั้งก็มีคนบอกว่าจะประหยัดเงินไป 4,000 ล้านบาท

“ยืนยันว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมาจากส.ส.ร. และส.ส.ร.ควรจะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะเชื่อว่ารัฐธรรมนูญที่ดีนั้น กระบวนการยกร่าง ที่มาของผู้ยกร่างจำเป็นต้องยึดโยงกับประชาชน ย้ำว่ากระบวนการส.ส.ร.ควรจะต้องเกิดขึ้นและควรจะเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อที่จะให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เดินหน้านับหนึ่งได้” นายชูศักดิ์ กล่าว

นายชัยธวัชกล่าวว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีสองส่วนสำคัญ ประการแรก ต้องยึดโยงกับหลักอำนาจสถาปนาเป็นของประชาชนให้มั่น กระบวนการทำประชามติที่มาจาก ส.ส.ร. ต้องยึดโยงกับหลักการนี้ พรรค ก.ก. ต้องการให้ทำประชามติทั้ง 3 ครั้ง การทำประชามติครั้งแรกสำคัญ เพราะหากประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ข้อเสนอต่างๆ จากพรรคการเมืองก็ถือว่าได้รับอำนาจจากประชาชน เมื่อ ส.ส.ร. ทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ก็ควรทำประชามติอีกรอบ แม้จะเสียทั้งเงินและเวลาแต่ก็ต้องให้ความสำคัญ ประการที่สอง ทั้งกระบวนการและเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรตอบโจทย์สภาพการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน เพราะเราต้องยอมรับว่าเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เราไม่สามารถที่จะหาฉันทามติร่วมกันได้ ดังนั้น การที่เราจะเห็นตรงกันเราอยู่กันได้อย่างมีความแตกต่างอยู่ ถือเป็นโจทย์ที่สำคัญที่จะเชื่อมโยงตั้งแต่การออกแบบกระบวนการต่างๆ ซึ่งไม่ควรมีการกีดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า เราควรออกแบบกระบวนการให้ตอบโจทย์ เพื่อให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สร้างฉันทามติในสังคม ฉันทามติในทางการเมืองครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2540 ที่เป็นการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่หลังเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ซึ่งเสริมสร้างให้ระบบการเมืองมีความเข้มแข็งมากขึ้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับถูกฉีกในปี 2549 ในเวลาไม่ถึง 10 ปี โจทย์เก่าที่คิดว่ามีคำตอบแล้วกลับยังไม่มีคำตอบ และเมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในปีนั้น ก็ยิ่งเพิ่มโจทย์ใหม่ๆ มา หากจะสร้างฉันทามติครั้งใหม่ ก็นำโจทย์จากแต่ฝ่ายเป็นตัวตั้ง เพื่อออกแบบร่วมกัน

“โจทย์แรก ต้องยอมรับว่ารัฐประหารไม่ใช่คำตอบ แม้แต่ฝ่ายที่ยอมให้เกิดรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองเฉพาะหน้า ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่น่าจะได้คำตอบแล้วว่า ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ไม่มีทางลัด”นายชัยธวัช กล่าว

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรออกแบบเพื่อป้องกันการเกิดรัฐประหาร และต้องคำนึงถึงการลบล้างความผิดในการรัฐประหารในอดีตด้วย โจทย์ที่สอง ต้องออกแบบให้มีการแข่งขันอย่างมีคุณภาพ ในระบบรัฐสภาของพรรคการเมือง โจทย์ที่สาม ในปี 2540 เราเคยออกแบบให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมาก และคิดว่ากลไกในการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจจะสามารถถ่วงดุลได้ ปรากฏว่ากลไกที่ออกแบบ เพื่อตรวจสอบนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ให้ฉ้อฉล กลายเป็นองค์กรที่ฉ้อฉลในการใช้อำนาจเสียเอง เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้องมีกลไกมาตรวจสอบผู้ใช้อำนาจ แต่คนที่มาตรวจสอบคนอื่น จะถูกตรวจสอบได้อย่างไร และมีอะไรที่ยึดโยงกับประชาชนได้บ้าง” ภายหลังที่นายชัยธวัชกล่าวประโยคนี้เสร็จ มีประชาชนจำนวนหนึ่งส่งเสียงเฮร้องและปรบมืออย่างถูกใจ

นายชัยธวัช กล่าวทิ้งท้ายว่า โจทย์สุดท้าย เราจะออกแบบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มีความยั่งยืนและสอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่อย่างไร นี่เป็นโจทย์ทั้งหมดที่เราควรคิด เพื่อใช้โอกาสนี้ในการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อสร้างฉันทามติใหม่ให้กับสังคมไทย


Message us